รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ห่วงผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่มีโรคประจำตัวและต้องกินยาควบคุมอาการที่สำคัญคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ อย่าขาดยาอย่างเด็ดขาด เพราะอาการอาจกำเริบได้ มีปัญหาโทรปรึกษาแพทย์ 1669 ฟรี 24 ชั่วโมง ย้ำเตือนคนพายเรือห้ามดื่มเหล้า สถิติที่ผ่านมาพบคนจมน้ำจบชีวิตเพราะเหล้าร้อยละ 27 เช้าวันนี้ (19 กันยายน 2551) นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วม และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จากโรงพยาบาลบางบาล ที่วัดตะกู หมู่ 4 ต.วัดตะกู อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำแม่น้ำน้อยได้เอ่อล้นท่วมบ้านเรือนริมคลองประมาณ 2,000 หลังคาเรือน ประชาชนเดือดร้อน 8,000 ราย ระดับน้ำสูง 50-100 เซนติเมตร เริ่มท่วมตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2551เป็นต้นมา ระดับน้ำมีแนวโน้มสูงขึ้น ในวันนี้ได้แจกยาสามัญประจำบ้าน ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า รวมจำนวน 150 ชุด รองเท้าบู้ทอีก 150 คู่ นายวิชาญ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพผู้ประสบภัยที่อยุธยาขณะนี้ เริ่มมีผู้เจ็บป่วยแล้ว 120 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า ไข้หวัด ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ให้ความรู้ประชาชนในเรื่องโรคที่เกิดจากน้ำท่วม ที่สำคัญคือ โรคอุจจาระร่วง ไข้หวัด ปอดบวม เพื่อป้องกันอย่างต่อเนื่อง “ปัญหาที่เป็นห่วงในช่วงน้ำท่วมขัง ต้องย้ำเตือนคนเมาเหล้า ห้ามพายเรืออย่างเด็ดขาด จากสถิติการจมน้ำตายพบว่าสุรามีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้จมน้ำตายร้อยละ 27 กลุ่มที่ต้องระวังอีกก็คือ ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เด็กเล็ก ญาติต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้วที่สำคัญได้แก่ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ซึ่งในเขตภาคกลางมีคนเป็นโรคนี้มากประมาณร้อยละ 20 โรคนี้รักษาไม่หายขาด ต้องกินยาควบคุมอาการอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นต้องอย่าขาดยาอย่างเด็ดขาดเนื่องจากจะทำให้อาการกำเริบได้ หากมีปัญหาไม่สามารถเดินทางไปรับยาได้ ให้โทรปรึกษาได้ที่หมายเลข 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ” นายวิชาญกล่าว สำหรับในภาพรวม การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในรอบ 8 วัน ตั้งแต่ 11-18 กันยายน 2551 มีผู้ป่วยทั้งหมด 30,265 ราย หน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ ปฏิบัติงานวันละ 265 ทีม ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัด รองลงมาคือ โรคน้ำกัดเท้า ยังไม่มีโรคระบาด กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งยาสามัญประจำบ้านไปแล้วกว่า 30,000 ชุด ใช้งบประมาณไปแล้ว 1,500,000 บาท ทางด้านนายแพทย์สุรเซษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าวว่า ในช่วงที่เกิดน้ำท่วมนี้ ประชาชนต้องระมัดระวัง 3 เรื่อง เรื่องแรกคือการตกน้ำ จมน้ำ โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็ก เสี่ยงต่อการจมน้ำ โดยการเสียชีวิตจากการจมน้ำจะเกิดขึ้นรวดเร็วมาก ในน้ำจืดประมาณ 3-4 นาที โดยเฉพาะผู้ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ลุยน้ำท่วม ไม่เห็นเส้นทางอาจเกิดอุบัติเหตุได้ ในรอบ 8 วันนี้มีผู้เสียชีวิตเพราะจมน้ำแล้ว 5 ราย เรื่องที่ 2 คือถูกไฟฟ้าช็อต ขณะใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า ควรระมัดระวังว่าสัมผัสน้ำหรือไม่ ทั้งอุปกรณ์และผู้ใช้ไฟฟ้า และ3.ปัญหาถูกงูพิษกัด หากถูกงูกัดขอให้เคลื่อนไหวบริเวณที่ถูกกัดน้อยที่สุด ชะลอการซึมของพิษเข้าสู่ร่างกาย ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ห้ามกรีด ตัด ดูด หรือจี้ไฟ อาจเกิดอันตรายได้ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ไม่ต้องเสียเวลาตามหางู และให้โทรแจ้ง 1669 ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งมือถือและโทรศัพท์บ้าน ระหว่างนำส่งให้ใช้เชือกหรือผ้าขนาดนิ้วก้อย รัดเหนือแผลที่ถูกกัดแน่นพอควร สอดนิ้วมือได้ 1 นิ้ว คลายออกทุก15-20 นาที ซึ่งจะทำให้พิษเข้าสู่ร่างกายช้าลง กันยายน ************************************ 19 กันยายน 2551


   
   


View 15    19/09/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ