กรมการแพทย์แผนไทยฯ เดินหน้าควบคุมร้านกัญชาตามกฎหมาย พร้อมเผยกรณี “ชูวิทย์” ส่งจดหมายขออภัย
- สำนักสารนิเทศ
- 32 View
- อ่านต่อ
วันนี้ (29 มกราคม 2566) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวถึง การให้บริการแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว (Long-acting Antibodies: LAAB) หรือที่รู้จักในนามภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปให้กับประชากรที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนแต่ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงเพียงพอต่อการป้องกันโรค เช่น ผู้ป่วยกลุ่มภูมิคุ้มกันบกพร่อง กลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการฟอกเลือด และกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ในระยะที่ผ่านมายังมีประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้รับการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาวไม่มากนัก กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรค จึงได้ปรับรูปแบบการให้บริการโดยใช้กลยุทธ์เพิ่มโอกาสให้กลุ่มเสี่ยงได้รับรู้ข้อมูลและตัดสินใจ (Encouraging Decision) โดยเน้นให้บุคลากรทางการแพทย์ให้ข้อมูลประโยชน์ของภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้มีโอกาสได้ทราบข้อมูล และซักถาม ก่อนที่กลุ่มเป้าหมายจะได้ตัดสินใจขอรับแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาวได้ที่โรงพยาบาล
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า แอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว (LAAB) เป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ที่สามารถปกป้องประชาชนกลุ่มเสี่ยงจากการป่วยหนักจากโควิด 19 ซึ่งข้อมูลเฝ้าระวังสายพันธุ์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ชี้ให้เห็นว่า ในระยะนี้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์ BA.2.75 ซึ่งแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาวสามารถใช้ได้ผลดี และในปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กรมควบคุมโรคจึงผลักดันการให้บริการภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปแก่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ในสถานดูแลผู้สูงอายุที่อยู่รวมกันจำนวนมาก มีโอกาสติดเชื้อพร้อมกันหลายคน ซึ่งจะช่วยป้องกันการสูญเสียได้ โดยการลดความเสี่ยงป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต ทั้งนี้ การใช้กลยุทธ์ใหม่เป็นการเพิ่มโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายได้รับข้อมูล LAAB มากขึ้นก่อนการตัดสินใจเข้ารับ และให้เป็นไปตามความสมัครใจของกลุ่มเป้าหมาย
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลว่า แม้มีการยกเลิกการใช้ LAAB (tixagevimab /cilgavimab) ในบางประเทศ เนื่องจากในประเทศนั้นๆ มีการระบาดด้วยสายพันธุ์กลายพันธุ์ เช่น BQ.1, BQ.1.1 และ XBB.1 เป็นหลัก แต่จากข้อมูลล่าสุดของประเทศไทยพบว่าสายพันธุ์ที่มีการระบาดขณะนี้เป็น BA.2.75 ประมาณร้อยละ 86 ซึ่งมีข้อมูลในหลอดทดลองว่า LAAB ยังสามารถลบล้างฤทธิ์เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.2.75 (neutralizing activity) ได้ผลดี จึงควรให้ LAAB ในเวลานี้กับผู้ที่สมควรได้รับเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดกับกลุ่มเสี่ยงในประเทศไทย
********************************************
ข้อมูลจาก: กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 29 มกราคม 2566