รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการสมาคมนักบริหารสาธารณสุข ปี 2566 เน้นขับเคลื่อนประเด็นสำคัญ ทั้งการกระจายอำนาจ การสร้างพันธมิตรในการทำงาน แลกเปลี่ยนข้อมูล เทคโนโลยีและการลงทุน และการพัฒนาระบบดิจิทัลสุขภาพ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวก รวดเร็ว ลดความเหลื่อมล้ำ ลดความแออัด

          วันนี้ (18 มกราคม 2566) ที่ โรงแรม แกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น โฮเทล จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการสมาคมนักบริหารสาธารณสุข ปี 2566 “Health Tech for Smart Living นวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพเพื่อชีวิตดีดี” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 มกราคม 2566 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลทางการแพทย์ สามารถนำไปพัฒนางานสาธารณสุขของประเทศไทยให้มีศักยภาพ รองรับสถานการณ์ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวก รวดเร็ว ลดความเหลื่อมล้ำ ลดความแออัด พร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การบริหารกำลังคนสุขภาพ” โดยมี นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุขและนายกสมาคมนักบริหารสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวนกว่า 600 คน เข้าร่วมประชุม

          ดร.สาธิต กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำและลดระยะเวลารอคอย ซึ่งนักบริหารการสาธารณสุขจะเป็นผู้ที่ผลักดันทั้งการบริหารและการบริการให้เกิดประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน โดยมีประเด็นขับเคลื่อนที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.การกระจายอำนาจ ให้สำนักงานเขตสุขภาพ เกิดความคล่องตัวในการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ซึ่งปีที่ผ่านมีการนำร่องใน 4 เขตสุขภาพ ประสบความสำเร็จอย่างดี ในปีนี้จึงขยายผลให้ครบทั้ง 12 เขตสุขภาพ และการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นสามารถตอบสนองปัญหาและความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนได้ตรงจุด ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบบริการได้อย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง และเท่าเทียม

          2. การประสานความร่วมมือกับภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อสร้างพันธมิตรในการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การสร้างความร่วมมือเชิงบูรณาการ โดยการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ลดความซ้ำซ้อน และเพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูล 2) การสร้างความร่วมมือทางเทคโนโลยี เพิ่มความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูล รวมทั้งการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้สะดวก รวดเร็ว มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และ3) การสร้างความร่วมมือด้านการลงทุน เช่น การร่วมทุนในรูปแบบ PPP ในการสร้างโรงพยาบาลปลวกแดง 2 เพื่อลดการเดินทางของผู้ป่วยในพื้นที่ ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีมาตรฐานในราคาที่เหมาะสม สะดวก รวดเร็ว เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ และ 3.ระบบดิจิทัลสุขภาพ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำกรอบการพัฒนาใน 5 ประเด็น ได้แก่ 1) การพัฒนา AI และ IoMT ในการดูแลสุขภาพประชาชน 2) การพัฒนาระบบฐานข้อมูล Big Data เพื่อการประมวลผล การวิเคราะห์ และการทำนาย/การพยากรณ์โรคมากยิ่งขึ้น 3) การประยุกต์ใช้ระบบ Cloud เพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานอย่างไร้รอยต่อ และการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ 4) Digital Health Platform โดยพัฒนาและใช้ระบบ Telemedicine ในการดูแลรักษาผู้ป่วย การใช้เทคโนโลยีและแอปพลิเคชั่นในการดูแลสุขภาพประชาชน เช่น ระบบหมอพร้อม 5) การพัฒนาข้อมูลเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Medical Record) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นได้ และมีความปลอดภัย

          “ปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนงานสาธารณสุข คือ ผู้นำ จะต้องมีทักษะในการใช้เทคโนโลยี สามารถเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทาย สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ พร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า หากผิดพลาด ต้องพยายามหาวิธีการที่จะพัฒนาต่อไป พร้อมเรียนรู้ทำความเข้าใจผู้อื่น มีทักษะการสื่อสาร ส่งเสริมให้กำลังใจทีม รวมถึงต้องใส่ใจสุขภาพทั้งของตนเองและคนในทีม เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข” ดร.สาธิตกล่าว

 ******************************* 18 มกราคม 2566

****************************************



   
   


View 1241    18/01/2566   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ