อย. ย้ำ! ซื้อเครื่อง CPAP ต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 36 View
- อ่านต่อ
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บุกจับคลินิกเสริมความงาม 5 แห่ง หลังพบมีการสวมรอยใช้ซิลิโคนเถื่อนให้บริการประชาชน พร้อมตรวจยึดซิลิโคนเสริมความงามเถื่อน และยาเถื่อน นับหมื่นรายการ มูลค่ารวมกว่า 2.9 ล้านบาท
วันนี้ (16 มกราคม 2566) นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ให้สัมภาษณ์ว่า สืบเนื่องจากการจับกุมโรงงานเถื่อนลักลอบผลิตชิ้นส่วนซิลิโคนศัลยกรรมเสริมจมูก และหน้าผาก ในจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2565 โดยจากการสืบสวนพบว่าโรงงานดังกล่าวมีการจำหน่ายซิลิโคนให้กับคลินิกเสริมความงามนับสิบแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งการนำซิลิโคนที่ไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้มาให้บริการเสริมความงาม อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้รับบริการได้ ดังนั้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในด้านระบบบริการสุขภาพ กรม สบส. จึงสนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)ในพื้นที่ เข้าตรวจสอบสถานพยาบาลเอกชน ซึ่งมีเบาะแสว่านำซิลิโคนจากโรงงานเถื่อนมาให้บริการเสริมความงาม จำนวน 5 แห่ง ซึ่งมีความเชื่อมโยงกัน โดยตรวจค้นพบซิลิโคนเสริมจมูก เสริมคาง เสริมหน้าผาก และยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา รวมกันนับหมื่นรายการ ซึ่งจากการขยายผลตรวจสอบโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ และเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า คลินิกทั้ง 5 แห่ง มีการจัดจ้างผลิตซิลิโคนเถื่อนจากโรงงานซิลิโคน ในจังหวัดสุพรรณบุรี โดยเมื่อมีการแถลงผลการจับกุมโรงงานดังกล่าว ในเดือนธันวาคม ส่งผลให้ผู้รับบริการบางรายตั้งข้อสงสัยว่าคลินิกมีการนำซิลิโคนเถื่อนมาให้บริการหรือไม่ ทางคลินิกจึงนำซิลิโคนเสริมความงามที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายมาแสดง แต่เมื่อประชาชนรับบริการศัลยกรรมฯ ทางคลินิกกลับนำซิลิโคนที่ไม่ได้มาตรฐานมาให้บริการ พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงดำเนินการตรวจยึด ชิ้นส่วนซิลิโคนรูปจมูก ซิลิโคนหน้าผาก ซิลิโคนคาง ผลิตภัณฑ์ที่มีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 และพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ได้นับหมื่นชิ้น รวมมูลค่ากว่า 2.9 ล้านบาท โดยพนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมายของกรม สบส.ได้แจ้งข้อหาการกระทำผิดกับคลินิก ดังนี้
1. กรวินคลินิก สาขางามวงศ์วาน ขณะทำการตรวจสอบพบซิลิโคนเถื่อน และผลิตภัณฑ์ที่ผิดพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 จำนวน 185 รายการ และได้ยึดเวชระเบียน จำนวน 125 ราย ซึ่งขณะตรวจสอบสถานพยาบาล เปิดทำการไม่ตรงตามที่ได้รับอนุญาต กรม สบส. โดยกองกฎหมายมอบให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีออกคำสั่งปิดสถานพยาบาลชั่วคราว ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541
2. กรวินคลินิก สาขาระยอง พบชิ้นส่วนซิลิโคนรูปจมูก จำนวน 489 ชิ้น ซิลิโคนคาง จำนวน 87 ชิ้น และผลิตภัณฑ์ที่มีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 จำนวน 9 รายการ พร้อมตรวจยึดเวชระเบียน จำนวน 16 ราย ซึ่งขณะทำการตรวจสอบสถานพยาบาลพบความผิด ดังนี้
2.1 ไม่พบผู้ดำเนินการสถานพยาบาลอยู่ในสถานพยาบาลมีความผิดตามมาตรา 34 (4) แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541
2.2 ไม่จัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลตามวิชาชีพและจำนวนที่กฎหมายกำหนด และจัดให้มีเครื่องมือ เครื่องใช้ยา และเวชภัณฑ์ที่จำเป็นประจำสถานพยาบาล มีความผิดตามมาตรา 35 (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541
2.3 สถานพยาบาลโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุมัติมีความผิดตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 กรม สบส. โดยกองกฎหมายมอบให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
3. กรวินคลินิก สาขาขอนแก่น พบชิ้นส่วนซิลิโคนรูปจมูกจำนวน 3,144 ชิ้น ซิลิโคนหน้าผาก จำนวน 27 ชิ้น ซิลิโคนคาง จำนวน 777 ชิ้น ผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาจำนวน 5 รายการ พร้อมยึดเวชระเบียน จำนวน 7 ราย ซึ่งขณะทำการตรวจสอบสถานพยาบาลพบความผิด ดังนี้
3.1 ไม่พบผู้ดำเนินการสถานพยาบาลอยู่ในสถานพยาบาลมีความผิดตามมาตรา 34 (4) แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541
3.2 ไม่จัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลตามวิชาชีพและจำนวนที่กฎหมายกำหนดมีความผิดตามมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541
3.3 เปลี่ยนแปลงห้องผ่าตัดจากเดิม 1 ห้อง เป็น 2 ห้อง แตกต่างจากที่ระบุไว้ตามที่อนุญาต มีความผิดตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 กรม สบส. โดยกองกฎหมายมอบให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งนี้ ในส่วนการโฆษณา กรม สบส. โดยกองกฎหมายได้ดำเนินการตรวจสอบกรกวินคลินิก ทั้ง 32 สาขา พบว่าสถานพยาบาลมีการโฆษณาโดยไม่ขออนุมัติ ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จะประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการพิจารณาเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายต่อไป
นพ.สุระ กล่าวเพิ่มเติมว่า ซิลิโคนเสริมความงาม เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งใช้กับร่างกายของมนุษย์ การที่จะนำอุปกรณ์ทางการแพทย์ประเภทใดๆ ก็ตามมาให้บริการ อุปกรณ์ทางการแพทย์จะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐาน และได้รับการขึ้นทะเบียนจากจาก อย. เพื่อยืนยันความปลอดภัยเสียก่อน หากนำซิลิโคนที่ไม่ได้มาตรฐานมาให้บริการ ย่อมมีความสุ่มเสี่ยง ที่จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ ร่างกายของผู้รับบริการ ทั้งการอักเสบ ติดเชื้อ หรือเสียโฉม กรม สบส. จึงขอเน้นย้ำให้ผู้ประกอบกิจการ และผู้ดำเนินการสถานพยาบาล กำกับดูแล มาตรฐานของสถานพยาบาลให้ถูกต้อง ตามที่กฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด หากพบว่าสถานพยาบาลแห่งใดมีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน อาทิ การให้บุคคลที่มิใช่แพทย์มาให้บริการ หรือนำยาและเวชภัณฑ์ที่ไม่ผ่านการรับรองจาก อย. มาให้บริการ กรม สบส.จะดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายโดยไม่มีการละเว้นแต่อย่างใด ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบ หรือมีเบาะแสการกระทำผิดกฎหมายของโรงพยาบาลเอกชน/คลินิก ในเขตกรุงเทพฯ สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน กรม สบส. 1426 แต่หากอยู่ในส่วนภูมิภาค ก็สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ ตามวันและเวลาราชการ
************** 16 มกราคม 2566