วันที่ 16 มกราคม 2566 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ. ธรากร เลิศพรเจริญ,พ.ต.อ.สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ.ณัฐวัฒน์ เกศะรักษ์, พ.ต.อ.สมเกียรติ ตันติกนกพร รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ., กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดย นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์  อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ไพศาล  ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลงานการขยายผลจับกุมเครือข่ายคลินิกรายใหญ่ ยึดซิลิโคนศัลยกรรมเสริมความงามเถื่อนกว่า 16,164 ชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 2,932,000 บาท

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก. ปคบ. ร่วมกับ อย. และ สสจ.สุพรรณบุรี นำหมายค้นของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ 882/2565 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2565 เข้าตรวจค้นโรงสีร้างในพื้นที่ หมู่ 1 ต.วังหว้า อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ที่ใช้เป็นฐานการลักลอบผลิตชิ้นส่วนซิลิโคนศัลยกรรมเสริมจมูกและหน้าผาก เพื่อกระจายไปยังคลินิกต่างๆ ทั่วประเทศ โดยตรวจยึด เครื่องจักรสำหรับผลิตซิลิโคนจมูกและหน้าผาก, แม่พิมพ์ซิลิโคนทรงต่างๆ ​​​จำนวน 68 แบบ, ซิลิโคนเสริมจมูกและหน้าผากสำเร็จรูป จำนวน 1,098 ชิ้น และอุปกรณ์ส่วนควบในการผลิตซิลิโคนศัลยกรรม กว่า 16 รายการ มูลค่าความเสียหาย 3,500,000 บาท โดยดำเนินคดีกับ น.ส.ณัฐปภัสร์ หรือน้ำตาล(สงวนนามสกุล) ผู้ผลิตซิลิโคนเถื่อนในความผิดฐาน “ผลิตเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต และผลิตเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับใบรับแจ้งรายการละเอียด ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา และรับว่าทำมาแล้วประมาณ 2 ปี

จากการสืบสวนขยายผลปรากฏพบว่า ซิลิโคนส่วนใหญ่ที่ น.ส.ณัฐปภัสร์ หรือน้ำตาลฯ ผู้ต้องหา ลักลอบผลิต มีพนักงานฝ่ายจัดซื้อของ บริษัท เค เมดิคอล (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้สั่งผลิต ซึ่งเมื่อผลิตเสร็จเรียบร้อยจะถูกส่งไปที่ กรวินคลินิก สาขางามวงศ์วาน และสาขาขอนแก่น และพบหลักฐานการจ่ายเงินค่าซิลิโคนในห้วงปี 2565 มากกว่า 2 ล้านบาท

ในวันที่ 22 ธันวาคม 2566 บก.ปคบ.จึงได้ร่วมกับ อย. เข้าตรวจค้นกรวินคลินิกสาขางามวงศ์วานและอาคารสต๊อกเครื่องมือทางการแพทย์และอุปกรณ์ที่จะใช้ในคลินิก ตามหมายค้นศาลจังหวัดนนทบุรี ที่ 1093/2565 ลงวันที่ 22 ธ.ค.65 ตรวจยึดชิ้นส่วนซิลิโคนรูปจมูก 12,282 ชิ้น, ซิลิโคนทรงหน้าผาก 27 ชิ้น, ซิลิโคนทรงคาง 3,855 ชิ้น ผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 จำนวน 480 รายการ, ผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 จำนวน 48 รายการ และผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 จำนวน 23 รายการ ซึ่งพนักงานที่ดูแลคลังรับว่าซิลิโคนเหล่านี้จะถูกส่งไปยังกรวินคลินิก ทั่วประเทศ ตามคำสั่งของผู้บริหาร เมื่อนำให้ น.ส.ณัฐปภัสร์ หรือน้ำตาลฯ ตรวจสอบและยืนยัน ผู้ผลิตซิลิโคนเถื่อนรับว่าชิ้นส่วนซิลิโคนที่ตรวจยึดเป็นซิลิโคนที่ตนผลิตในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี และจัดส่งมาให้ทั้งสิ้นจริงและพนักงานดูแลคลังมีการกระจายซิลิโคนไปอีกกว่า 30 สาขา

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 บก.ปคบ. จึงได้ร่วมกับ อย., สบส., สสจ.ระยอง และสสจ.ขอนแก่นนำหมายค้นตรวจสถานที่จับเก็บชิ้นส่วนซิลิโคนและคลินิกสาขาใหญ่ จำนวน 6 จุด รายละเอียดดังนี้

1.  กรวินคลินิกสาขานครปฐม ถนนหลังพระ ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ตรวจยึดชิ้นส่วนซิลิโคนรูปจมูก 484 ชิ้น, ซิลิโคนคาง 134 ชิ้น, ผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 จำนวน 5 รายการ โดยเปิดให้บริการมาแล้ว 1 เดือน

2. กรวินคลินิกสาขางามวงศ์วาน 2-4 หมู่ 12 ซอยงามวงศ์วาน 27 ถนนงามวงศ์วาน ต.บางเขน อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี ตรวจยึดชิ้นส่วนซิลิโคนรูปจมูก 45 ชิ้น, ซิลิโคนคาง 19 ชิ้น, ผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 จำนวน 14 รายการ โดยเปิดให้บริการมาแล้ว 5 ปี

3. คลังเก็บสินค้าสาขางามวงศ์วาน 619/34 หมู่ 12 ซอยงามวงศ์วาน 27 ซอย 1 ต.บางเขน อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 จำนวน 185 รายการ

4. กรวินคลินิกสาขาระยอง 6/5,6 ถนนจันทอุดม ต.เชิงเนิน อ.เมืองระยอง จ.ระยอง ตรวจยึดชิ้นส่วนซิลิโคนรูปจมูก 489 ชิ้น, ซิลิโคนคาง 87 ชิ้น, ผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 จำนวน 9 รายการ และผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ.2522 จำนวน 55 รายการ โดยเปิดให้บริการมาแล้ว 2 ปี 5 เดือน

5. กรวินคลินิกสาขาอุดรธานี 129/152 ถนนเลี่ยงเมืองอุดร-หนองคาย ต.หนองบัว อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี ตรวจยึดชิ้นส่วนซิลิโคนรูปจมูก 837 ชิ้น, ซิลิโคนคาง 90 ชิ้น, ผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 จำนวน 1 รายการ และผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอางค์ พ.ศ.2558 จำนวน 144 รายการ โดยเปิดให้บริการมาแล้ว 6 ปี

6. กรวินคลินิกสาขาขอนแก่น 579 หมู่ 21 ต.บ้านเป็ด อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น ตรวจยึดชิ้นส่วนซิลิโคนรูปจมูก 3,144 ชิ้น, ซิลิโคนหน้าผาก 27 ชิ้น, ซิลิโคนคาง 777 ชิ้น, ผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 จำนวน 319 รายการ, ผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 จำนวน 425 รายการ และผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอางค์ พ.ศ.2558 จำนวน 247 รายการ โดยเปิดให้บริการมาแล้ว 8 ปี

รวมการตรวจค้นทั้งหมด 7 จุด ตรวจยึด 1. ชิ้นส่วนซิลิโคนรูปจมูก 12,282 ชิ้น, 2. ซิลิโคนหน้าผาก 2,775 ชิ้น, 3. ซิลิโคนคาง 1,107 ชิ้น, 4. ผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 จำนวน 998 รายการ, 5. ผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 จำนวน 474 รายการ, 6.ผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 จำนวน 428 รายการ, 7. พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ.2522 จำนวน 55 รายการ มูลค่าความเสียหายกว่า 2,932,000 บาท

จากการตรวจสอบพบว่าเมื่อ น.ส.ณัฐปภัสร์ หรือน้ำตาล ผลิตชิ้นส่วนซิลิโคนที่บริษัท เคเมดิคอล(ไทยแลนด์) จำกัด สั่ง และให้จัดส่งมาที่สาขางามวงศ์วาน และสาขาขอนแก่น จากนั้นจะกระจายซิลิโคนกรวินคลินิกสาขาอื่น กว่า 30 สาขา เพื่อใช้ในงานศัลยกรรมให้ลูกค้า โดยมีต้นทุนซิลิโคนชิ้นละ 60-80  บาท ขายคอร์สผ่าตัดศัลยกรรมในราคา 4,900-50,000 บาท

และจากการตรวจสอบผู้รับบริการศัลยกรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 ถึงปัจจุบันพบว่า กรวินคลินิกทั้ง 5 สาขา มีการผ่าตัดศัลกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชิ้นส่วนซิลิโคนกว่า 1,621 ราย เป็นการเสริมจมูก 1,436 ราย, คาง 154 ราย และเสริมจมูกกับคางพร้อมกัน 31 ราย ทั้งนี้พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ได้ออกหมายเรียกกลุ่มผู้ต้องหาให้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว

เบื้องต้นการกระทำของกลุ่มผู้ต้องหาเป็นความผิดฐาน

1. ร่วมกันขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตฯ ตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 มาตรา 46/1 ระวางโทษ จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. ร่วมกันขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ฯ พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 มาตรา 46(4) ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. ร่วมกันขายยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 72(4) ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4. ร่วมกันขายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง ตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 มาตรา 32(4) ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

5. ร่วมกันจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง ตาม พ.ร.บ.อาหาร มาตรา 6 (10) ระวางโทษตาม ปรับไม่เกินสามหมื่นบาท

นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ซิลิโคนเสริมความงาม เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งใช้กับร่างกายของมนุษย์ การที่จะนำอุปกรณ์ทางการแพทย์ประเภทใดๆ ก็ตามมาให้บริการ อุปกรณ์ทางการแพทย์จะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐาน และได้รับการขึ้นทะเบียนจากจาก อย. เพื่อยืนยันความปลอดภัยเสียก่อน หากนำซิลิโคนที่ไม่ได้มาตรฐานมาให้บริการ ย่อมมีความสุ่มเสี่ยง ที่จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ ร่างกายของผู้รับบริการ ทั้งการอักเสบ ติดเชื้อ หรือเสียโฉม กรม สบส. จึงขอเน้นย้ำให้ผู้ประกอบกิจการ และผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ดูแลกำกับ มาตรฐานของสถานพยาบาลให้ถูกต้อง ตามที่กฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด หากพบว่าสถานพยาบาลแห่งใดมีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน อาทิ การให้บุคคลที่มิใช่แพทย์มาให้บริการ หรือนำยาและเวชภัณฑ์ที่ไม่ผ่านการรับรองจาก อย. มาให้บริการ กรม สบส.จะดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายโดยไม่มีการละเว้นแต่อย่างใด ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบ หรือมีเบาะแสการกระทำผิดกฎหมายของโรงพยาบาลเอกชน/คลินิก ในเขตกรุงเทพฯ สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน กรม สบส. 1426 แต่หากอยู่ในส่วนภูมิภาค ก็สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ ตามวันและเวลาราชการ 

ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่าขอขอบคุณ บก.ปคบ. ที่ขยายผลจากการตรวจค้นสถานที่ผลิตซิลิโคนเถื่อนที่จังหวัดสุพรรณบุรี เข้าตรวจสอบคลินิกหลายแห่งทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด

ซิลิโคนจมูก ซิลิโคนหน้าผากและซิลิโคนคาง ต้องมีขบวนการผลิตแบบพิเศษ สะอาด ปลอดเชื้อ เพื่อให้สามารถนำมาใช้กับร่างกายของมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย เรียกว่า Medical Grade Silicone จะมีลักษณะนิ่ม หรือแข็งต่างกัน ขึ้นอยู่กับการใช้งาน จึงขอเตือนไปยังคลินิกทุกแห่งให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้รับบริการเป็นหลัก อย่านึกเพียงการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ปัจจุบันมีบริษัทผลิตหรือนำเข้าที่ได้รับอนุญาตจาก อย.จำนวน 9 แห่ง และมีผลิตภัณฑ์ซิลิโคนจมูก ซิลิโคนหน้าผาก หรือเต้านมเทียม ที่ได้รับอนุญาตจำนวน 407 รายการ คลินิกควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตมาใช้ในคลินิกเท่านั้น

ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email:1556@fda.moph.go.th Line@FDAThai, Facebook: FDAThaiหรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวว่าการผ่าตัดศัลยกรรมเสริมจมูกหรือหน้าผากเป็นรสนิยมส่วนตัวเพื่อเสริมความมั่นใจในแต่ละบุคคล การผ่าตัดเพื่อใส่ซิลิโคนซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตโดยไม่ได้มาตรฐานเข้าไปในร่างกายอาจทำให้เสี่ยงต่อการอักเสบจนถึงขั้นติดเชื้อและอาจส่งผลร้ายกับใบหน้าและร่างกายโดยตรง การผลิตจะต้องได้มาตรฐานและได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง ควรตรวจสอบคลินิกและซิลิโคนที่จะใช้ด้วยคความระมัดระวัง และแจ้งเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิด ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด พี่น้องประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค โดยประชาชนทั่วไปหากพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค

วันที่เผยแพร่ข่าว 16 มกราคม 2566 แถลงข่าว 10 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

“การแถลงข่าวในครั้งนี้เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน”



   


View 1147    16/01/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ