กระทรวงสาธารณสุข เผยความพร้อมการดูแลด้านสุขภาพในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค จัดทีมแพทย์และสาธารณสุขติดตามตลอดการประชุม เตรียมพร้อมการรักษาและส่งต่อส่งกลับด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เฝ้าระวังควบคุมโรคโควิด 19 และเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยของอาหาร แจงแม้เป็นวันหยุดราชการ แต่ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินยังเข้ารับการรักษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมให้จัดคลินิกนอกเวลา รักษาผ่านระบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน

         วันนี้ (12 พฤศจิกายน 2565) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำหรับการประชุมสัปดาห์ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 ว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบายการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยย้ำว่าจะต้องมีความปลอดภัยสูงสุดและเป็นไปตามหลักวิชาการ ทั้งด้านการป้องกัน ส่งเสริมสุขภาพ ดูแลสุขภาพจิต การรักษาและการส่งต่อ โดยทีมบุคลากรจะปฏิบัติภารกิจอย่างเข้มงวดและเป็นไปด้วยความเคารพคณะผู้นำเขตเศรษฐกิจทั้ง 21 เขต เพื่อดูแลความปลอดภัยทางการแพทย์และสร้างความประทับใจให้แก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจ เนื่องจากการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมครั้งนี้ถือเป็นวาระสำคัญที่จะสร้างความโดดเด่นให้กับประเทศไทยในการนำเสนอภาพรวมของประเทศภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดี และยังส่งผลในเชิงเศรษฐกิจ รวมถึงบทบาทของประเทศไทยในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

         นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในการประชุมสัปดาห์ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจทั้ง 21 เขต โดยบูรณาการหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมแพทย์ทหารอากาศ กรมแพทย์ทหารบก ตำรวจ กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัย หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่โดยรอบ และโรงพยาบาลเอกชน แบ่งการดูแล ดังนี้ 1.จัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์ฯ ติดตามขบวนผู้นำเขตเศรษฐกิจ โรงแรมที่พัก ประจำ ณ สถานที่จัดประชุม และสถานที่จัดเลี้ยง Gala Dinner 2.การรักษาพยาบาลและการส่งต่อ จัดเตรียมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยบูรณาการร่วมกับกรมการแพทย์และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทั้งนนทบุรี ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา รพ.ตำรวจ รพ.ศิริราช และรพ.เอกชน ระดมทีมทำงานซึ่งผ่านประสบการณ์และการฝึกอบรมเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยและการส่งต่อคณะผู้นำต่างๆ ในการจัดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขเอเปคครั้งที่ผ่านมา

         3.การเฝ้าระวังและควบคุมโรคติดต่อ โดยเฉพาะเรื่องของโรคอาหารเป็นพิษและโรคโควิด 19 ซึ่งแม้สถานการณ์โรคโควิด 19 จะดีขึ้น แต่ยังมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกจึงยังต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งผู้เข้าร่วมประชุมและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน  4.การดูแลความปลอดภัยของอาหาร โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะมีการตรวจสอบสารพิษในอาหาร สารตกค้างต่างๆ ส่วนกรมอนามัยและกรุงเทพมหานครจะกำกับดูแลผู้ประกอบการอาหาร ทั้งผู้ปรุง ผู้สัมผัสอาหาร และผู้ให้บริการ ให้เป็นไปตามหลักสุขาภิบาลอาหาร  และ 5.การดูแลเรื่องสุขภาพจิตของผู้ทำงานและคณะติดตามต่างๆ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการดูแลคู่สมรสของคณะผู้นำที่จะไปศึกษาดูงานในต่างจังหวัด โดยจัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์ฯ ติดตามและประจำที่สถานที่ศึกษาดูงาน

           "เมื่อวานนี้ ( 11 พฤศจิกายน) มีการประชุมติดตามการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขสำหรับการประชุมสัปดาห์ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งขณะนี้แผนการต่างๆ ดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย ยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมการดำเนินภารกิจดังกล่าวให้กับประเทศ" นพ.โอภาสกล่าว

           นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า ส่วนการดูแลรักษาพยาบาลประชาชนทั่วไป เนื่องจากช่วงการประชุมสัปดาห์ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค รัฐบาลกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ ได้กำชับโรงพยาบาลในสังกัดให้พยายามจัดบริการประชาชนให้ได้รับความสะดวกสบาย ลดผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด เช่น การจัดคลินิกเสริมนอกเวลา การจัดการดูแลรักษาแบบออนไลน์ เป็นต้น ทั้งนี้ หากประชาชนเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรศัพท์สายด่วน 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

****************************** 12 พฤศจิกายน 2565



   
   


View 836    12/11/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ