“พิษณุโลก” ฉีดวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ให้นักเรียนหญิง ป.5 พร้อมกันทั้งจังหวัด ให้ครอบคลุมเป้าหมายกว่า 6,000 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 183 View
- อ่านต่อ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมแสดงสัตยาบันของไทยในการเข้าร่วมเป็นภาคีสถาบันวัคซีนนานาชาติ (IVI) ส่งผู้เชี่ยวชาญเรียนรู้งานทุก 3 เดือน และเข้าร่วมประชุม World Bio Summit 2022 แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านวัคซีนจากบทเรียนโควิด หวังสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพร่วมกันทั่วโลก พร้อมลงนามความร่วมมือกับสาธารณรัฐเกาหลี สร้างความเข้มแข็งระบบสุขภาพ สุขภาพดิจิทัล และการส่งเสริมสุขภาพ
วันนี้ (25 ตุลาคม 2565) ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และคณะผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วมพิธีแสดงสัตยาบันกับสถาบันวัคซีนนานาชาติ (IVI) “Thailand-IVI Ratification Ceremony” พร้อมแสดงความยินดีเนื่องในวันครบรอบ 25 ปีของการก่อตั้ง IVI และเข้าร่วมพิธีเปิด World Bio Summit 2022 ที่จัดขึ้นเพื่อระดมความร่วมมือจากนานาชาติในการสร้าง “อนาคตของวัคซีนและชีวอนามัย” นอกจากนี้ ยังได้หารือทวิภาคีระหว่างไทยและสาธารณรัฐเกาหลี โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทยกับกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการแห่งสาธารณรัฐเกาหลี
นายอนุทินกล่าวว่า สถาบันวัคซีนนานาชาติ (IVI) เป็นองค์กรระดับโลกด้านวัคซีน ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2540 เพื่อพัฒนาและส่งมอบวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ราคาไม่แพงสำหรับประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทยมีการก่อตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2555 ก่อนการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 อย่างเป็นทางการ เพื่อเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานของวัคซีน ให้มีความพร้อมรับมือกับโรคระบาดในอนาคต ในนามของรัฐบาลไทยต้องขอขอบคุณ IVI ที่จัดพิธีแสดงสัตยาบันของการที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี (State Party) ของ IVI ซึ่งจะทำให้เกิดการส่งเสริมความร่วมมือ ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนต่างๆ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรด้านวัคซีน โดยปีนี้สถาบันวัคซีนแห่งชาติบรรลุข้อตกลงกับทาง IVI ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและส่งบุคลากรผู้เชี่ยวชาญของสถาบันฯ จำนวน 3 คนไปเรียนรู้และทำให้เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกัน
นายอนุทินกล่าวต่อว่า ส่วนการประชุม World Bio Summit 2022 เป็นการประชุมที่รวบรวมผู้นำระดับโลกด้านวัคซีน เพื่อหารือเกี่ยวกับ “อนาคตของวัคซีนและชีวอนามัย” จากประสบการณ์และบทเรียนที่เรียนรู้จากการระบาดของโรคโควิด 19 พร้อมเสนอวิธีการเสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อโรคติดเชื้อในอนาคต ซึ่งตนได้นำเสนอภายในงานว่า บทเรียนการระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 คือ ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย และต้องเตรียมพร้อมสำหรับภัยคุกคามต่อสุขภาพในอนาคต ซึ่งการพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรค ยา และวัคซีนเพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ต้องได้รับความร่วมมืออย่างมากจากนานาประเทศ อย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะเป็นเรื่องยากสำหรับประเทศใดประเทศหนึ่งที่จะพร้อมในทุกด้าน เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แหล่งเงินทุน ต้นแบบของไวรัสที่มาจากการระบาด และโอกาสในการทดลองวัคซีน ดังนั้น จึงต้องร่วมกันคิดหาวิธีวางแผนและบรรลุเป้าหมาย
“ประเทศไทยมีนโยบายการดูแลปกป้องประชากรทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศ โดยให้บริการวัคซีน ซึ่งทำได้ครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 82 ของประชากร มีการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนที่ รพ.สต.เพื่อให้เข้าถึงอย่างสะดวก และมีการวิจัยวัคซีนหลายโครงการ เช่น ChulaCov19, HexaPro - GPO Vac และวัคซีนใบยา เป็นต้น เชื่อว่าประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของไทยที่จะแบ่งปันในการประชุมนี้ จะนำไปสู่การวางแผนเชิงกลยุทธ์ใหม่หรือดีขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความมั่นคงด้านสุขภาพร่วมกันทั่วโลก จึงจะสามารถป้องกันผู้คนทั่วโลกจากโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ได้”นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวอีกว่า ส่วนการหารือทวิภาคี มีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทย กับกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข มุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพ การดูแลสุขภาพดิจิทัล และการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญและเป็นรากฐานของระบบสุขภาพ เพราะเราได้บทเรียนจากโควิด 19 คือ ระบบสุขภาพต้องยืดหยุ่นเพื่อรับมือต่อวิกฤตต่างๆ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาให้บริการในช่วงโควิด เช่น หุ่นยนต์ การให้คำปรึกษาออนไลน์ และ Telemedicine การพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ส่งผลให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงต้องปรับตัวและเรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที ข้อตกลงฉบับนี้เป็นเสมือนการปูทางไปสู่การแบ่งปันความรู้และความเชี่ยวชาญระหว่างสองประเทศ เพื่อเสริมสร้างระบบสุขภาพของทั้งสองประเทศให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนของทั้งสองประเทศให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมอย่างยั่งยืน
************************************************ 25 ตุลาคม 2565
****************************