องคมนตรี ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนางานของโรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนต้นแบบในการดูแลผู้ป่วยโรคไตแบบครบวงจร ส่งเสริมการใช้สมุนไพร เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ บริหารจัดการข้อมูลด้านสุขภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งสู่การเป็น Smart Hospital

        วันนี้ (20 ตุลาคม 2565) ณ โรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดศรีสะเกษ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมการมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล พร้อมด้วย นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุขและกรรมการมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนางานสำคัญของโรงพยาบาล พร้อมให้กำลังใจบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน และมอบของเยี่ยมให้กับผู้ป่วยที่มารับบริการ

          นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า โรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา เป็นโรงพยาบาลชุมชนตัวอย่างในการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้านเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนสร้างรูปแบบการบริหารจัดการที่ดี จัดระบบบริการสุขภาพได้ครอบคลุม ทั่วถึงและเท่าเทียม บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของชุมชน อีกทั้งยังเป็นโรงพยาบาลชุมชนต้นแบบในการดูแลผู้ป่วยโรคไตแบบครบวงจร เป็นหน่วยรับส่งกลับจากโรงพยาบาลแม่ข่าย ดูแลผู้ป่วยโรคไตทั้งในเขตและนอกเขต ในกลุ่มเรื้อรังระยะที่ 3-5 จำนวน 326 คน และจัดโปรแกรมการเรียนการสอนให้กับผู้ป่วยและญาติที่ต้องล้างไตทางช่องท้อง 98 คน จนได้รับรางวัลชนะเลิศคลินิกไตเรื้อรังดีเด่นประเทศไทย จากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ระดับโรงพยาบาลทุติยภูมิ ในปี พ.ศ. 2557-2558 และ พ.ศ. 2560

         นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังมีผลงานการดำเนินที่สำคัญหลายด้าน อาทิ ส่งเสริมการปลูกผักอินทรีย์เพื่อจำหน่ายให้กับชุมชน โรงเรียน ถ่ายทอดความรู้การใช้ประโยชน์จากพืชและสมุนไพรในท้องถิ่น เพื่อการบำบัดโรค มีโรงงานผลิตเครื่องสำอางจากสมุนไพรที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกสมุนไพรและจัดส่งวัตถุดิบให้กับโรงงานเพื่อช่วยเพิ่มรายได้ ส่งเสริมใช้พลังงานทดแทนด้วยการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ ซึ่งในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา สามารถลดค่าไฟฟ้าได้เฉลี่ยเดือนละ 18,218.57 บาท และยังมีนวัตกรรมมีนวัตกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ การประดิษฐ์จากถุงน้ำยาล้างไต อาทิ หมอนหนุน, พลาสติกคลุมเบาะ, หมอนรองแขนเจาะเลือด เป็นต้น การให้คำปรึกษาทางไกลคลินิกโรคผิวหนังร่วมกับสถาบันโรคผิวหนัง การจัดบริการจิตเวชสัญจรออนทัวร์ เพิ่มการเข้าถึงการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยให้บริการตรวจรักษาที่ รพ.สต.ทุกตำบล สัปดาห์ละครั้ง การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในพื้นที่ห่างไกล ให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป ตรวจคัดกรองตา ทันตกรรม การออกเยี่ยมบ้านดูแลผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง และผู้พิการ และการบริหารจัดการข้อมูลด้านสุขภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งสู่การเป็น Smart Hospital รวมถึงจัดการสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน GREEN & CLEAN Hospital ที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ

************************************ 20 ตุลาคม 2565

************************************

 



   
   


View 1162    20/10/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ