กระทรวงสาธารณสุข จัดซื้อเสื้อชูชีพ 200 ตัว และเรือยางไฟเบอร์ 2 ลำ ให้ทีมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ จ.หนองคาย ป้องกันอุบัติเหตุขณะออกให้บริการ เนื่องจากบางพื้นที่กระแสน้ำไหลเชี่ยว พร้อมสำรองยาสามัญประจำบ้านอีก 20,000 ชุด ผลจากน้ำท่วม 5 วัน ประชาชนป่วยกว่า 3,000 ราย มีสถานบริการสาธารณสุขถูกน้ำท่วมต้องปิดบริการ 1 แห่ง คือสถานีอนามัยบ้านกองนาง อ.ท่าบ่อ
วันนี้ (16 สิงหาคม 2551)นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมคณะ ตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่วัดโสภาภิมุข บ้านปากสวย อำเภอโพนพิสัย และวัดใหม่ไชโย บ้านพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ และสถานีอนามัยบ้านกองนาง ตำบลกองนาง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ที่ประสบภัยน้ำท่วมเป็นวันที่ 6 โดยได้มอบถุงยังชีพ จุดละ 500 ชุด รองเท้าบู้ทจุดละ 200 คู่ และมอบยาสามัญประจำบ้านให้จุดละ 5,000 ชุด
นายวิชาญกล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติงานช่วยเหลือประชาชน และประเมินสถานการณ์ผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ตามแนวริมน้ำโขง 7 อำเภอมากที่สุด มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 1 แสนคน กระทรวงสาธารณสุขได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคาย จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตรวจรักษาชาวบ้านที่ประสบภัยตามหมู่บ้านต่างๆอย่างเต็มที่วันละกว่า 30 ทีม ดูแลไม่ให้เจ็บป่วยซ้ำเติมอีก จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ปกติ ตลอด 5 วันมีผู้เจ็บป่วยแล้วกว่า 3,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้ ปวดศีรษะ โรคน้ำกัดเท้า ไม่มีรายใดมีอาการหนัก พบเครียดร้อยละ 10 เนื่องจากทรัพย์สินเสียหาย ได้สั่งการสำรองยาสามัญประจำบ้านเพิ่มอีก 20,000 ชุด และจะจัดจิตแพทย์ นักจิตวิทยาให้บริการดูแลฟื้นฟูจิตใจต่อไป
ในส่วนสถานบริการสาธารณสุข จากการสำรวจพบถูกน้ำท่วม 4 แห่งคือสถานีอนามัยตำบลวัดหลวง อ.โพนพิสัย สถานีอนามัยตำบลกองนาง อ.ท่าบ่อ สถานีอนามัยตำบลสังคม และ สถานีอนามัยตำบลผาตั้ง อ.สังคม โดย 3 แห่งยังให้บริการได้ มี 1 แห่งต้องปิดบริการคือสถานีอนามัยตำบลกองนาง เนื่องจากระดับน้ำท่วมสูงเกือบ 2 เมตร อย่างไรก็ตาม กระแสน้ำขณะนี้บางจุดไหลเชี่ยว อาจเป็นอันตรายต่อการออกปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ได้ ได้สั่งการให้จัดซื้อเสื้อชูชีพ 200 ตัวให้เจ้าหน้าที่ใส่ เป็นการด่วน ป้องกันอุบัติเหตุ และจัดซื้อเรือยางไฟเบอร์ 2 ลำ ลำละ 2 แสนกว่าบาทให้ อ.สังคมและท่าบ่อ เพื่อใช้ในการออกให้บริการประชาชน นายวิชาญกล่าว
นายวิชาญ กล่าวต่อว่า โรคที่ต้องระวังระหว่างน้ำท่วมที่สำคัญคือโรคระบบทางเดินอาหารและน้ำ โรคผื่นคัน เนื่องจากขาดแคลนน้ำสะอาด ขอให้ประชาชนดื่มน้ำบรรจุขวด ให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ส่วนข้าวกล่องที่อาจได้รับจากการแจก ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 6 ชั่วโมง โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงด้วยกะทิ อาจเน่าเสียง่าย ให้ถ่ายอุจจาระลงส้วม หากส้วมใช้การไม่ได้ ให้ถ่ายลงถุงดำเพื่อนำไปกำจัดให้ถูกต้อง เพื่อช่วยกันลดความสกปรกของน้ำ และล้างมือให้สะอาด ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ เฝ้าระวังโรคติดต่อที่มากับน้ำท่วม ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ เช่นไข้หวัด ปอดบวม เนื่องจากอากาศชื้นมีฝนตกอยู่ตลอด โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ และให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง
************************************ 16 สิงหาคม 2551
View 16
16/08/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ