กระทรวงสาธารณสุข เร่งขจัดวัณโรค สั่งการสาธารณสุขทุกจังหวัดตั้ง มิสเตอร์ทีบี ส่งทีมออกค้นหาคนป่วย เข้าสู่ระบบการรักษาต่อเนื่อง 180 วันให้หายขาด เน้นแหล่งชุมชนแออัด เรือนจำ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเอดส์ ตั้งเป้าหลุดจากบัญชีพื้นที่วัณโรคชุกขององค์การอนามัยโลก ภายใน 3-5 ปี เผยขณะนี้คนไทยป่วยเป็นวัณโรคประมาณปีละ 9 หมื่นราย แต่เข้ารักษาเพียงร้อยละ 60 ที่เหลือไม่รู้ว่าป่วย เป็นแหล่งแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว
วันนี้ (14 สิงหาคม 2551) นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังนำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานการป้องกันและควบคุมวัณโรคของจังหวัดหนองคาย และเยี่ยมชมการดำเนินงานป้องกันควบคุมวัณโรคของเรือนจำจังหวัดหนองคาย ว่า ในปี 2550 องค์การอนามัยโลกรายงานทั่วโลกมีผู้ป่วยวัณโรค 14 ล้านราย เสียชีวิตปีละ 1 ล้าน 5 แสนราย สำหรับไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศวัณโรคชุกสูงในอันดับที่ 18 จาก 22 ประเทศทั่วโลก คาดแต่ละปีมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณปีละ 90,000 รายในปี 2550 มีรายงานการตายปีละ 5,500 ราย ในปี 2550 มีรายงานผู้ป่วยเข้ารับการรักษาทั่วประเทศ 57,236 รายหรือประมาณร้อยละ 60 ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อ 28,487 ราย โดยพบผู้ป่วยกลับเป็นซ้ำเกือบ 2,000 ราย และพบติดเชื้อเอดส์ร่วมด้วยประมาณร้อยละ 11
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาหลักที่ทำให้วัณโรคในไทยแพร่ระบาดขณะนี้ คือ มีผู้ป่วยวัณโรคที่ยังไม่ได้รับการรักษาและอยู่ในชุมชนต่างๆ อีกร้อยละ 40 หรือประมาณ 3 หมื่นกว่าราย ซึ่งอาจจะยังไม่เข้าสู่การรักษา คนกลุ่มนี้สามารถแพร่เชื้อทางการไอจาม ขยายวงกว้างออกไปได้คนละ 10-20 รายต่อปี ผลการรักษาเป็นเป้าหมายสำคัญ ของการลดโรค โดยมีผู้ป่วยที่กินยาจนหายขาดประมาณร้อยละ 76 เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ คือร้อยละ 85
ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด แก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ให้ตั้งมิสเตอร์ทีบี เป็นผู้รับผิดชอบงานในระดับจังหวัด และตั้งมิสเตอร์ทีบีในโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อรับผิดชอบรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข ออกค้นหาผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ทุกพื้นที่ ตั้งแต่ 12 สิงหาคม 2551 เป็นต้นไป เน้นพื้นที่ชุมชนแออัด เรือนจำ กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ติดเชื้อเอดส์ เพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษาฟรี หากเป็นผู้ป่วยระยะแพร่เชื้อให้รับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก่อนส่งกลับไปรักษาต่อที่บ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข ญาติผู้ป่วยร่วมดูแลอย่างใกล้ชิด ให้กินยาอย่างต่อเนื่อง 180 วันก็จะหายขาด ตั้งเป้าภายใน 3 - 5 ปี ประเทศไทยจะหลุดจากพื้นที่ที่มีผู้ป่วยวัณโรคชุกขององค์การอนามัยโลกได้ นายแพทย์ปราชญ์ กล่าว
ทางด้านนายแพทย์สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัณโรคที่พบในไทยมากที่สุดร้อยละ 90 คือวัณโรคปอด ทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ง่าย จากการไอจาม ผู้ป่วยจะไอเรื้อรังนานกว่า 2 อาทิตย์ มีไข้ต่ำๆ ในช่วงบ่ายหรือเย็น เหงื่อออกตอนกลางคืน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผู้ที่มีอาการดังกล่าวขอให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว หากตรวจพบเชื้อจะต้องกินยาทุกวันเป็นเวลา 6 เดือน ห้ามขาดยา เพื่อป้องกัน เชื้อดื้อยา จนรักษาด้วยยาตัวเดิมไม่ได้ ต้องเพิ่มยาให้แรงขึ้นหรือใช้ยาตัวใหม่ ใช้เวลารักษานานขึ้น และหากยัง ขาดยาเหมือนเดิมอีกเชื้อจะดื้อยาทุกชนิด รักษาไม่ได้ อัตราตายสูงถึงร้อยละ 85
สำหรับในเรือนจำ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ควบคุมแก้ไขปัญหาวัณโรคในเรือนจำทั่วประเทศซึ่งมี 143 แห่ง ตั้งแต่พ.ศ. 2541 มีผู้ต้องขังประมาณ 165,300 คน พบผู้ต้องขังเสี่ยงติดวัณโรคสูงกว่าคนทั่วไป 8 - 20 เท่าตัว เนื่องจากอยู่ร่วมกันแออัด บางคนติดยาเสพติด ติดเอดส์ ในปีที่ผ่านมา มีผู้ต้องขังป่วยเป็นวัณโรค 1,557 ราย โดยเป็นผู้ป่วยรายใหม่อยู่ในระยะแพร่เชื้อร้อยละ 60 และ 1 ใน 3 ติดเชื้อเอดส์ด้วย พบปัญหาดื้อยาวัณโรคหลายขนานในผู้ต้องขังรายใหม่ประมาณร้อยละ 6 - 10 สูงกว่าคนทั่วไปถึง 3 - 5 เท่าตัว ในปี 2549 มีอัตราการรักษาหายขาดร้อยละ 72 ซึ่งยังต่ำกว่ามาตรฐานเช่นกัน
ในปีนี้ได้ปรับมาตรการ โดยจะให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยร่วมกับเจ้าหน้าที่พยาบาลในเรือนจำ โดยให้ตรวจร่างกายผู้ต้องขังรายใหม่ทุกคน ถ้าพบผู้ป่วยระยะแพร่เชื้อให้แยกออกจากผู้อื่น เพื่อกินยาฆ่าเชื้อ 2 สัปดาห์ จนไม่ติดต่อผู้อื่น และใส่หน้ากากอนามัย รวมทั้งให้จัดระบบการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างเรือนจำกับหน่วยงานสาธารณสุข กรณีผู้ป่วยย้ายเรือนจำหรือพ้นโทษเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดยาและเชื้อดื้อยา
ด้านนายแพทย์อิทธิพล สูงแข็ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคาย ได้ดำเนินงานควบคุมป้องกันวัณโรคตามยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุขทุกพื้นที่ ในลักษณะ เครือข่าย ผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการรักษาตามมาตรฐานสากล ในปี 2551 มีผู้ป่วยวัณโรคขึ้นทะเบียนรักษา จำนวน 348 ราย คิดเป็นอัตราป่วยแสนละ 39 คน โดยร้อยละ 20 หรือ 185 ราย เป็นผู้ป่วยระยะแพร่เชื้อ เป็นผู้ป่วยที่ป่วยซ้ำร้อยละ 2 และเป็นผู้ป่วยติดเชื้อเอดส์ร้อยละ 14 โดยมีอัตราการรักษาหายขาดร้อยละ 87
สำหรับเรือนจำหนองคาย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้มีความร่วมมือกันใกล้ชิด โดยพยาบาลประจำเรือนจำจะตรวจร่างกายและเก็บเสมหะผู้ต้องขังรายใหม่ทุกราย ส่งตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลหนองคาย หากพบว่ามีเชื้อวัณโรคโรงพยาบาลจะให้การรักษาทันที และแยกผู้ป่วยไว้ห้องแยกในเรือนจำเป็นเวลา 2 เดือน โดยให้พยาบาลประจำเรือนจำร่วมกับผู้ต้องขังที่เป็นอาสาสมัครในเรือนจำ ดูแลผู้ป่วยให้กินยาทุกวัน ทำให้การรักษาได้ผลดี หายขาดทุกราย ตั้งแต่ปี 2545 - 2550 มีผู้ต้องขังป่วยเป็นวัณโรค 10 ราย รักษาหายขาดทั้งหมด ส่วนในปี 2551 มีผู้ป่วย 8 ราย เป็นชาวไทย 7 ราย ลาว 1 ราย เป็นผู้ป่วยที่พบใหม่ในเรือนจำ 4 ราย และอีก 4 ราย เป็นผู้ป่วยรับโอนจากเรือนจำอื่น
**************************************** 14 สิงหาคม 2551
View 15
14/08/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ