สธ.มหาสารคาม รับนโยบาย “คนไทยห่างไกลโรคฯ” เดินหน้าฉีดวัคซีน HPV ให้กลุ่มเป้าหมายกว่า 2.8 หมื่นคน พร้อมเสริมแกร่ง อสม. ช่วยลดความเสี่ยง NCDs
- สำนักสารนิเทศ
- 216 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุขเผยไม่พบผู้ติดเชื้อฝีดาษวานรเพิ่มในประเทศไทย ส่วนชายต่างชาติที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยรายที่ 2 อาจออกนอกประเทศไปแล้ว อีกรายผลตรวจเป็นลบ ประสานองค์การเภสัชกรรมจัดหาวัคซีนฝีดาษรุ่น 3 จำนวน 1 พันโดส แนะแนวทางเก็บตัวอย่างส่งตรวจและการดูแลรักษา เผยกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรง
วันนี้ (1 สิงหาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และพญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ แถลงการณ์เฝ้าระวัง การตรวจหาเชื้อ และแนวทางการรักษาโรคฝีดาษวานร โดย นพ.โอภาสกล่าวว่า สถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลกพบผู้ป่วย 22,812 ราย ใน 75 ประเทศ เสียชีวิต 3 ราย จากสเปน 2 ราย และบราซิล 1 ราย โดยพบว่ามีภาวะสมองอักเสบแทรกซ้อน และมีโรคมะเร็งร่วมด้วย ทั้งนี้ แนวโน้มการป่วยเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยุโรป ส่วนเอเชียการติดเชื้อ คือ มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้เดินทางจากต่างประเทศ แต่เริ่มมีแนวโน้มการติดเชื้อภายในประเทศ เช่น สิงค์โปร์ที่พบผู้ป่วย 11 ราย
นพ.โอภาสกล่าวว่า ส่วนประเทศไทยยังมีผู้ติดเชื้อฝีดาษวานร 2 ราย โดยรายแรกเป็นชายชาวไนจีเรีย ที่มีการหลบหนีไปกัมพูชา ซึ่งจากการประสานทราบว่าหายดีแล้ว การติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ จ.ภูเก็ต จำนวน 50 กว่าราย ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่ ส่วนรายที่ 2 เป็นชายไทย มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดชายต่างประเทศ ผู้สัมผัสร่วมบ้าน 18 คน ผลตรวจทุกคนเป็นลบ อยู่ในระบบคุมไว้สังเกตอาการจนครบ 21 วัน ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดต่างชาติรายแรกผลตรวจเป็นลบ ส่วนอีกรายคาดว่าออกนอกประเทศไปแล้ว กำลังตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
“โรคฝีดาษวานรไม่ได้ติดต่อง่ายหรือมีความรุนแรง จึงใช้มาตรการป้องกันคัดกรองผู้เดินทางจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เชื้ออยู่ที่ตุ่มหนองที่ผิวหนัง ขอให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีตุ่มฝีตุ่มหนอง ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์ถือเป็นการสัมผัสใกล้ชิดรูปแบบหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเฝ้าระวังในสถานพยาบาล หากพบผู้ป่วยตุ่มฝีตุ่มหนองให้ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ถ้าพบผู้ป่วยจะควบคุมกลุ่มเสี่ยงไม่ให้แพร่กระจายเชื้อต่อ” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า วัคซีนฝีดาษไม่จำเป็นต้องฉีดให้คนไทยทุกคน แต่ต้องเลือกกลุ่มที่เหมาะสม โดยการฉีดวัคซีนชนิดใดในวงกว้าง จะคำนึง 4 ปัจจัย คือ ประสิทธิภาพ ผลข้างเคียง สถานการณ์การระบาด และความเป็นไปได้ในการจัดบริการ ซึ่งขณะนี้ประสานองค์การเภสัชกรรมในการจัดหาวัคซีนฝีดาษรุ่นที่ 3 จำนวน 1 พันโดส ฉีดคนละ2 โดส คาดว่าจะหาเข้ามาได้ในช่วงครึ่งเดือนหลังของสิงหาคมนี้ ซึ่งวัคซีนรุ่นที่ 3 มีผลข้างเคียงน้อยกว่า โดยจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเพื่อกำหนดระยะห่างในการฉีดและกลุ่มเป้าหมายต่อไป
นพ.บัลลังก์ กล่าวว่า เชื้อฝีดาษวานรถูกจัดเป็นเชื้อในกลุ่มความเสี่ยงระดับ 3 (BSL 3) การตรวจวิเคราะห์จึงต้องทำในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามในประกาศให้ดำเนินการตรวจในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 2 ที่เสริมสมรรถนะได้ แต่การเพาะเลี้ยงเชื้อและศึกษาวิจัยยังต้องดำเนินในระดับ 3 เท่านั้น ส่วนแนวทางการเก็บตัวอย่างส่งตรวจ ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกาและองค์การอนามัยโลกว่าเก็บตัวอย่างจากจุดใดถึงจะมีเชื้อมากที่สุด จึงขอให้เก็บตัวอย่างจากหลายตำแหน่ง เช่น บริเวณตุ่มหนอง ใช้เข็มปราศจากเชื้อแล้วเก็บตัวอย่างจากแผลผิวหนังส่วนบน หากแผลตกสะเก็ดแล้ว ใช้หลอดปราศจากเชื้อเก็บตัวอย่าง หรือเก็บตัวอย่างจากจมูกเหมือนโควิด หรือเจาะเลือดตรวจด้วยก็ได้ ซึ่งไม่ว่าจะเก็บตัวอย่างแบบใดก็พร้อมตรวจทั้งหมด โดยขอให้เก็บตัวอย่างในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส จะเก็บได้ 7 วัน แต่ถ้าต้องการเก็บนานเป็นเดือนต้องเก็บในอุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียสขึ้นไป ผู้เก็บตัวอย่างต้องสวมชุดป้องกัน PPE แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ห้องความดันลบ เนื่องจากเชื้อไม่ได้ติดง่ายเหมือนโควิด ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 15 แห่ง สามารถตรวจฝีดาษวานรได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา และรายงานผลกลับไปยังผู้ส่งตรวจและกองระบาดวิทยาได้ภายใน 24 ชั่วโมง
นพ.บัลลังก์กล่าวอีกว่า สายพันธุ์ของเชื้อฝีดาษวานรมี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์แอฟริกากลาง อัตราการเสียชีวิตสูงกว่า สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก 10 เท่า แต่การระบาดรอบนี้แทบทั้งหมดเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ย่อย B.1 ซึ่งข้อมูลใน GISAID เป็น B.1 มากกว่า 80-90% ซึ่งผู้ป่วยรายที่ 2 ของประเทศไทยเป็นสายพันธุ์นี้ ส่วนสายพันธุ์ย่อย A.2 พบน้อยมากมีไม่ถึง 40 ตัวอย่าง จาก 700-800 ตัวอย่างใน GISAID หรือไม่ถึง 10% ซึ่งผู้ป่วยรายแรกของไทยเป็นสายพันธุ์ย่อย A.2
ด้าน พญ.นฤมล กล่าวว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (อีโอซี) เห็นชอบแนวการปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และการป้องกันการติดเชื้อกรณีโรคฝีดาษวานร ฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 โดยหลักคือ หากมีผู้ป่วยสงสัย มีอาการเริ่มจากไข้ ตุ่มน้ำตุ่มหนอง อาการเข้าได้ทางคลินิก เมื่อแพทย์สงสัย ซักประวัติพบเดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค หรือมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด ให้โรงพยาบาลรับเป็นผู้ป่วยในในห้องแยกเดี่ยวที่มีห้องน้ำในตัว เก็บตัวอย่างตามคำแนะนำกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจว่าเป็นฝีดาษวานรจริงหรือไม่ ถ้าไม่เจอเชื้อให้รักษาตามสาเหตุของโรค ให้ผู้ป่วยสังเกตอาการตนเอง 21 วัน ส่วนกรณีตรวจพบเชื้อให้แอดมิทต่อ ดำเนินการรักษาในห้องแยกผู้ป่วยติดเชื้อ จนกว่าสะเก็ดแผลแห้ง ซึ่งประมาณ 2-3 สัปดาห์
“ขณะนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ ใช้การรักษาตามอาการ แต่เริ่มมีการศึกษายาต้านไวรัสในต่างประเทศหากได้ผลจะพิจารณานำเข้ามาใช้ ส่วนผู้ป่วยที่เสี่ยงสูงต่ออาการรุนแรง คือ ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่าง ๆ ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ปลูกถ่ายไขกระดูกภายใน 2 ปี ผู้ที่เป็นโรคที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เด็กอายุต่ำกว่า 8 ขวบ หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ส่วนคำแนะนำป้องกันประชาชนทั่วไป ขอให้สวมหน้ากาก ลดสัมผัสละอองฝอยจากผู้ป่วย ล้างมือบ่อย ๆ เลี่ยงสัมผัสตุ่มหนองสารคัดหลั่งร่างกาย” พญ.นฤมลกล่าว
************************************************ 1 สิงหาคม 2565