กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ติวเข้ม แพทย์ พยาบาล นักวิชาการ ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัดและแพทย์จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เตรียมพร้อมรับมือการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ในอนาคต ให้แม่นยำการวินิจฉัย รักษาและควบคุมป้องกันโรค วันนี้ (14 สิงหาคม 2551) ที่โรงแรมรอยัล แม่โขง จังหวัดหนองคาย นายแพทย์ศิริศักดิ์ วรินทราวาท รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดการประชุมเชิงปฎิบัติการ แพทย์ พยาบาล นักวิชาการ จากโรงพยาบาลรัฐและเอกชน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานควบคุมป้องกันโรค ทีมเฝ้าระวังสวบสวนเคลื่อนที่เร็ว ที่อยู่ในพื้นที่ 19 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 300 คน ในเรื่องการตรวจวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งกรมควบคุมโรคร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ ศูนย์ความร่วมมือสหรัฐด้านสาธารณสุข และสถาบันคีนันแห่งเอเชียร่วมกันจัดขึ้น เพื่อพัฒนางานควบคุมป้องกันโรคและการวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ เตรียมรับมือกับการระบาดใหญ่ของโรคที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีแพทย์จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในโครงการเฝ้าระวังโรคในลุ่มน้ำโขง และการดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจประเทศในลุ่มน้ำอิรวดี เจ้าพระยา แม่โขงหรือเอคเมคส์ (ACMECS) เข้าร่วมประชุมด้วย 10 คน นายแพทย์ศิริศักดิ์ กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน ที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย แต่ละปีมีรายงานผู้ป่วยเข้ารับการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกปีละมากกว่า 900,000 ครั้ง ในจำนวนนี้จะมีผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม ต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลประมาณปีละ 12,000 – 75,000 ราย สูญเสียค่ารักษาพยาบาลปีละกว่า 2 พันล้านบาท คาดการณ์ว่าหากเกิดการระบาดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในไทย ในขั้นต่ำอาจจะมีผู้ป่วยกว่าล้านคน และเสียชีวิตนับหมื่นคน ในขั้นสูงจะป่วยมากถึง 26 ล้านคน เสียชีวิตนับแสนคน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมมหาศาลด้วย จึงต้องเตรียมมาตรการเร่งด่วนรับมือกับโรคนี้ เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยง ทั้งนี้ แพทย์ พยาบาล ต้องให้ความสำคัญกับการรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ ที่อาจจะดูว่าเป็นโรคทั่ว ๆ ไป เจอได้บ่อยรักษาง่าย แต่สิ่งที่ทั่วโลกกำลังกังวลคือโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดนก ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต จึงต้องเข้มงวดเรื่องการรักษาและการตรวจวินิจฉัยให้แม่นยำ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจ สามารถป้องกันตัวและดูแลตนเองในเบื้องต้น ทางด้านนายแพทย์ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ ในปี 2550 มีรายงานผู้ป่วย 18,368 ราย เสียชีวิต 15 ราย ในปี 2551 นี้ ตั้งแต่มกราคม – สิงหาคม ได้รับรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศ 9,557 ราย เสียชีวิต 2 ราย ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบในภาคกลางมากที่สุด รองลงมาคือภาคอีสาน ภาคใต้และภาคเหนือ โดยมีรายงานมากที่สุดในเดือนมิถุนายน จำนวน 2,081ราย แต่คาดว่าจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับโรคไข้หวัดใหญ่ในสถานการณ์ที่แท้จริง มีมากกว่าจำนวนที่รายงานหลายเท่าตัว สำหรับการวางแผนรับมือกับการระบาดและการกลายพันธุ์ของเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ ประเทศไทยกำลังดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ป้องกัน แก้ไข และเตรียมพร้อมรับปัญหาไข้หวัดนกและการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 - 2553 มียุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ 1.จัดระบบการเลี้ยงสัตว์ปีกอย่างปลอดโรค 2.การเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค ทั้งในคนและสัตว์ 3.การเตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ และ4.ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข ประชาชน ภาคธุรกิจ และนานาประเทศ นอกจากนี้ ในปีนี้ได้จัดทำโครงการขยายการใช้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เริ่มในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงก่อน ได้แก่ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และมีโรคเรื้อรังประจำตัวด้วย คือ โรคหอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตวาย โรคหัวใจ เบาหวาน หลอดเลือดสมอง และกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาเคมีบำบัด รวมจำนวน 400,000 คน ส่วนการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลให้จัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีน ในวงเงิน 1,400 ล้านบาท เป็นโครงการ 5 ปี เริ่มต้นในปี 2551 ซึ่งจะสามารถผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับให้บริการในภาครัฐและปรับไปผลิตวัคซีนสายพันธุ์ระบาดใหญ่ได้เมื่อเกิดปัญหาการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ **************************************** 14 สิงหาคม 2551


   
   


View 14    14/08/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ