สาธารณสุขเผยเด็กและผู้หญิงถูกกระทำรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ในปี 2550 เหตุเกิดเฉลี่ยนาทีละ 2 ราย และถูกส่งเข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลใหญ่ทั่วประเทศเกือบ 20,000 ราย ครึ่งหนึ่งเป็นเด็ก พบในเด็กหญิงสูงกว่าเด็กชาย 3-4 เท่าตัว ปัญหาในผู้ใหญ่พบถูกทุบตีมากสุด ในเด็กถูกละเมิดทางเพศมากสุด ซึ่งสถิติยังต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะฐานค่านิยมสังคมไทย เชื่อความรุนแรงในครอบครัว เป็นเรื่องส่วนตัว เร่งขยายบริการของศูนย์พึ่งได้ลงถึงโรงพยาบาลประจำอำเภอ 729 แห่งทั่วประเทศ ในปี 2552 ครอบคลุมผู้สูงอายุด้วย เช้าวันนี้ (14 สิงหาคม 2551) ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กทม. นายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการศูนย์พึ่งได้ ครั้งที่ 1 ในประเด็น “หนึ่งทศวรรษ ศูนย์พึ่งได้ สังคมต้องตระหนัก เพื่อผู้ถูกกระทำรุนแรง” ซึ่งมีผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์พึ่งได้ของโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน กลุ่มสหวิชาชีพ องค์กรที่เกี่ยวข้อง และประชาชนที่สนใจเข้าประชุมรวม 600 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความคิดเห็นเพื่อบูรณางานการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กสตรีและผู้สูงอายุให้เหมาะสมกับประเทศไทย นายแพทย์ศุภชัย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าขณะนี้ความรุนแรงในเด็กและสตรี เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันในสังคมไทยนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น จากสถิติการให้บริการของศูนย์พึ่งได้ ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ประจำจังหวัดทั่วประเทศ 297 แห่ง ในปี 2550 มีเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงเข้ารับบริการจำนวน 19,068 ราย เฉลี่ยนาทีละ 2 ราย เป็นหญิงอายุ 18 ปีขึ้นไป 8,172 ราย ที่เหลือเป็นเด็กจำนวน 9,579 ราย ในขณะที่ในปี 2548 มีสถิติถูกทำร้ายเฉลี่ยวันละ 32 ราย ในกลุ่มเด็กพบว่าเป็นเด็กหญิงมากกว่าเด็กชาย 3-4 เท่าตัว การบาดเจ็บในกลุ่มผู้หญิงมักถูกทุบตี ผู้ทำร้ายเป็นเพื่อนผู้ใกล้ชิด เช่นแฟน สามี สาเหตุมาจาก เมาสุรา หึงหวง นอกใจ ส่วนปัญหาที่พบในกลุ่มเด็กอันดับ 1 คือการถูกละเมิดทางเพศ พบร้อยละ 64 และยังพบปัญหาจากสื่อลามกได้ร้อยละ 2 ที่น่าสังเกตในปี 2550 มีผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง 109 ราย ซึ่งผลกระทบของความรุนแรงทำให้เกิดความสูญเสียทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 36,000 ล้านบาทต่อปี นายแพทย์ศุภชัย กล่าวต่อไปว่า สถิติที่พบครั้งนี้ เชื่อว่ายังต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากความรุนแรงในเด็กและผู้หญิงกว่าร้อยละ 80 เกิดในครอบครัว ซึ่งสังคมไทยยังมีความเชื่อว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ควรเปิดเผยให้ใครทราบ และเด็กมักตกเป็นเหยื่อความรุนแรงได้ง่าย เพราะไม่รู้เท่าทันผู้ใหญ่ ไม่มีประสบการณ์ ป้องกันตัวเอง และเด็กมักจะถูกขู่ไม่ให้บอกใคร หรือครอบครัวไม่ยอมให้เปิดเผยเพราะกลัวอับอาย จึงต้องเร่งสร้าง กระตุ้นให้สังคมไทยเกิดความตระหนัก และร่วมกันแก้ไขป้องกัน ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ขณะนี้ได้เปิดศูนย์พึ่งได้ ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศแล้ว เปิดรับแจ้งทางหมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง ในปี 2552 มีนโยบายจะขยายบริการศูนย์พึ่งได้ไปยังโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศจำนวน 729 แห่ง โดยเพิ่มบริการผู้สูงอายุด้วย และภายในปี 2555 จะขยายการบริการของศูนย์พึ่งได้ให้ครอบคลุมทุกสถานบริการสาธารณสุขระดับตำบลคือสถานีอนามัยทั่วประเทศ และประสานการทำงานกันเป็นเครือข่าย เพื่อรองรับและช่วยเหลือเด็ก สตรีและผู้สูงอายุ ที่ถูกกระทำรุนแรงให้ทันท่วงทีมากขึ้น นายแพทย์ศุภชัย กล่าวต่อไปอีกว่า กรมสนับสนุนฯได้จัดทำมาตรฐาน คู่มือการให้บริการของศูนย์พึ่งได้ 6 ด้านในลักษณะสหวิชาชีพ ทั้งแพทย์ กฎหมาย ตำรวจ นักสังคมสังเคราะห์ ได้แก่ การรักษาพยาบาล การให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจ ให้คำปรึกษาแก่ผู้เสียหายและญาติที่ดูแล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลทางจิตใจหรือพีทีเอสดี ( PTSD: Post Traumatic Stress Disorder) การให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ โดยให้การรักษาฟรี โดยเฉพาะการป้องกันการตั้งครรภ์ การป้องกันการติดเชื้อเอดส์ การสงเคราะห์ค่าเดินทาง การให้ความช่วยเหลือด้านสังคม เช่นตอดตามญาติ การประสานส่งต่อหน่วยงานอื่น และการติดตามเยี่ยมที่บ้านที่โรงเรียน ในปี 2549 ได้ให้บริการยาป้องกันการติดเชื้อเอดส์ ป้องกันการตั้งครรภ์จำนวน 7,983 ราย เป็นเงิน 6 ล้านกว่าบาท และเยี่ยมบ้าน 615 ราย สำหรับทิศทางจะดำเนินการในปี 2552 ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้เพิ่มการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง และถูกกระทำรุนแรง รวมทั้งเพิ่มเรื่องการป้องกันก่อนความรุนแรงจะเกิดในระดับตำบล หมู่บ้าน โดยพัฒนาระบบการค้นหากลุ่มเสี่ยง การเตรียมความพร้อมสถานบริการและชุมชน เพื่อให้มีระบบการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาความรุนแรง และประเมินเรื่องความตระหนัก ค่านิยม และวัฒนธรรมสังคมไทยและขยายเครือข่ายทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อพัฒนามาตรฐานระบบบริการให้มีคุณภาพ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม อาทิ จัดหาบ้านพักฉุกเฉิน ดำเนินการช่วยเหลือทางกระบวนการยุติธรรม ประสานงานส่งต่อข้อมูลทั้งไปและกลับ โดยในปีนี้จะนำร่องใน 4 ตำบล 4 จังหวัดได้แก่ ปทุมธานี ขอนแก่น ชุมพร และเชียงใหม่ ทั้งนี้ หากพบเด็กหรือสตรีถูกทำร้าย หรือพบเห็นเหตุการณ์ที่มีการทำร้ายรุนแรงเกิดขึ้นให้ โทรแจ้งไปที่ 1669 ทันทีมีรถพยาบาลออกปฏิบัติการนำผู้ป่วยไปส่งต่อยังโรงพยาบาลเครือข่ายที่ใกล้เคียงที่เกิดเหตุที่สุดภายในเวลา 15 นาที นายแพทย์ศุภชัยกล่าวในที่สุด ************************************* 14 สิงหาคม 2551


   
   


View 12    14/08/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ