รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันพร้อมเดินหน้าจัดหายาคุณภาพ ราคาถูกให้ประชาชนไทยได้ใช้รักษาโรค ด้วยมาตรการหลากวิธี หากไม่ได้ผล ไม่เป็นที่พอใจจึงจะใช้วิธีการซีแอล ยอมรับการใช้ซีแอลมีผลดี เพราะทำให้ได้ยาราคาถูกลงมากๆ แต่ควรจะดำเนินการด้วยความระมัดระวัง โดยจะประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนาการเข้าถึงระบบยาที่มีคุณภาพที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งในปลายเดือนนี้ หรือต้นเดือนหน้าเป็นอย่างช้า
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบายการให้ประชาชนเข้าถึงยาที่มีคุณภาพและราคาถูกว่า กระแสข่าวที่ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศเว้นวรรคซีแอล นั้นยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ผมเห็นด้วยว่าการทำซีแอลเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้บริษัทยายอมรับการต่อรองราคายาให้ต่ำลง ซึ่งก็เป็นหนึ่งในหลายๆ วิธีในการได้ยาราคาถูก โดยในการจัดหายาราคาถูกและมีคุณภาพตัวต่อไปนี้ รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะพิจารณาร่วมกับกระทรวงอื่นๆ ทั้งพาณิชย์ ต่างประเทศ คลัง อุตสาหกรรม สำนักงบประมาณ และมีนโยบายชัดเจน จะดำเนินการในหลายวิธี ในเบื้องต้นจะใช้วิธีการเจรจาต่อรองกับบริษัทยาก่อน ลดภาษีการนำเข้า หรือจัดซื้อยารวม เพื่อให้ได้ราคาที่ถูกลง หากไม่ได้ผล หรือยังไม่เป็นที่พอใจ ก็จะประกาศบังคับใช้ซีแอลเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งวิธีเช่นนี้เป็นวิธีการที่ยืดหยุ่น ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ใช้ซีแอลมาช่วย เพราะซีแอลเป็นวิธีมีประโยชน์ เป็นช่องทางทำให้เข้าถึงยาที่มีคุณภาพ ราคาถูกลงได้ง่ายขึ้น
นายชวรัตน์กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขจะเชิญคณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนาการเข้าถึงระบบยาที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามแต่งตั้งเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2551 ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 102/2551 ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ ผู้แทนเครือข่ายผู้ป่วย และมีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นเลขานุการ จะประชุมหารือในปลายเดือนนี้ หรืออย่างช้าต้นเดือนหน้า เพื่อพิจารณาสถานการณ์การเจ็บป่วยของคนไทยและการเข้าถึงยารักษาที่มีคุณภาพ อย่างเท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันก็จะพิจารณาช่องทางการวิจัยยาจากสมุนไพรไทย ให้สามารถรักษาโรคเหล่านั้นได้ด้วย
ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนาการเข้าถึงระบบยาที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน กล่าวว่า จากการประชุมคณะทำงานเพื่อพัฒนาการเข้าถึงระบบยาที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืนในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งประกอบด้วย รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา มีผลการศึกษาจากสถาบันประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ ของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องมาตรการเข้าถึงยาที่มีคุณภาพว่ามีองค์ประกอบที่สำคัญที่มีผลต่อการเข้าถึงยา 4 ประการคือ 1. เหตุผลในการคัดเลือกยา 2. การแสวงหาราคายาที่เหมาะสม 3. การจัดหาเงินสนับสนุน 4. ระบบสุขภาพและการจัดซื้อและจัดหายาที่มีคุณภาพ
สำหรับกลไกสำคัญที่จะทำให้มีการเข้าถึงยา มี 8 กลไก ได้แก่ 1. มาตรการจัดตั้งราคาอ้างอิง 2. มาตรการจัดซื้อยารวม 3. การแข่งขันทั่วไปในตลาดยา 4. มาตรการราคาที่แตกต่างกัน 5. มาตรการควบคุมทางภาษี 6. มาตรการควบคุมราคายาโดยตรง 7. มาตรการการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรหรือซีแอล และ 8. มาตรการนำเข้าซ้อน
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่ออีกว่า จากการพิจารณาสถานการณ์โรคและการเข้าถึงยาในปัจจุบัน ควรจะมีข้อมูลเชิงวิชาการรองรับอย่างเป็นระบบ ทั้งการป่วย การใช้ยารักษาของแพทย์ จึงได้ให้สถาบันประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวบรวมศึกษาข้อมูลเรื่องนี้อย่างรอบด้าน โดยประสานกับสปสช. องค์การเภสัชกรรม และอ.ย.ด้วย ในฐานะเป็นผู้จัดหางบประมาณ ผู้ผลิตและอนุญาตขึ้นทะเบียนยา
************************************ 11 สิงหาคม 2551
View 12
11/08/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ