รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงาน Thailand Moving Together กอด กิน บิน เที่ยว ใช้ชีวิตใกล้ชิดอีกครั้ง รับฟังความเห็นจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวและคมนาคม เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่น ที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น เน้นผ่อนคลายมาตรการที่ไม่จำเป็น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยใช้ชีวิตร่วมกับโควิดอย่างปลอดภัย รับประกันระบบสาธารณสุขเตรียมพร้อมรองรับอย่างเพียงพอ

          วันนี้ (16 มิถุนายน 2565) ที่อิมแพคเมืองทองธานี จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน Meet & Greet “Thailand Moving Together : กอด กิน บิน เที่ยว ใช้ชีวิตใกล้ชิดอีกครั้ง” โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสิรภพ ดวงสอดศรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายโชติ ตราชู ปลักกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและคมนาคมเข้าร่วม

             นายอนุทินกล่าวว่า เป็นระยะเวลากว่า 2 ปีที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและการเดินทางของประเทศไทย ต้องเผชิญกับความยากลำบากจากสถานการณ์โควิด 19 และการปิดประเทศ ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและกระทรวงคมนาคม ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อหามาตรการต่างๆ ให้เกิดสมดุลระหว่างการควบคุมป้องกันโรคและการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องทั้งผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต ซึ่งต้องขอบคุณความร่วมมือของประชาชนและผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามคำแนะนำ ทั้งการล็อกดาวน์ หยุดกิจกรรมและกิจการ ปรับลดเวลาการเปิดบริการ จัดพื้นที่ให้บริการแบบเว้นระยะห่าง ปรับปรุงระบบระบายอากาศ จัดให้พนักงานได้รับการฉีดวัคซีน และตรวจหาเชื้อในกลุ่มพนักงานที่ให้บริการ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถเสนอมาตรการผ่อนคลายต่าง ๆ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้เพิ่มมากขึ้น

            “ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกมาตรการเข้าประเทศรูปแบบ Test & Go นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้อย่างเสรี ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น เริ่มเห็นสัญญาณของการฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น” นายอนุทินกล่าว

             ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด 19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดงานดังกล่าวขึ้น โดยเชิญตัวแทนสมาคมหรือหน่วยงานผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยว บริการ ร้านอาหาร โรงแรมและการคมนาคม รวม 22 สมาคม เพื่อรับฟังความคิดเห็นและวางแผนร่วมกัน (Hearing & Solution) ในการจัดทำมาตรการสาธารณสุขต่าง ๆ เสนอต่อที่ประชุม ศบค.ต่อไป เพื่ออำนวยความสะดวก สร้างความมั่นใจต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและคมนาคม และให้คนไทยกลับมามีชีวิตอย่างปกติสุข โดยอยู่ร่วมกับโควิด 19 ได้อย่างปลอดภัย

                นายอนุทินกล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้น พบว่า ตัวแทนทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการ ต่างแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันเสนอแนวทางเพื่อพาประเทศไทยก้าวข้ามวิกฤตบนความปลอดภัยของประชาชน กระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ปลดล็อกมาตรการที่ไม่จำเป็นต่างๆ เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นต่อไป โดยผู้ประกอบการต้องการให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ แจ้งแผนนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวล่วงหน้า เพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมและปรับตัวได้ ให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวเดินทางได้สะดวกและรวดเร็ว และให้กระทรวงสาธารณสุขเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ออกมาตรการผ่อนคลายต่าง ๆ และออกคำแนะนำประชาชนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมระบบการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ ได้แก่ เตียงพอ ยาพอ และหมอพอ มีการสำรองยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ป้องกันร่างกายส่วนบุคคลไว้อย่างพอเพียงในการรับมือกับการระบาดซ้ำ

                 อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการทางสังคมมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่ต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ คือ ต้องเข้าใจและปฏิบัติตามมาตรการ 2 U คือ Universal Prevention ป้องกันการติดโรค ด้วยการเว้นระยะห่าง และล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่อากาศปิดหรือแออัด ตรวจหาเชื้อโควิด 19 เมื่อจำเป็น เช่น เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการสงสัย และ Universal Vaccination ขอความร่วมมือมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อยกระดับภูมิคุ้มกันให้มีความปลอดภัยกับการใช้ชีวิต ดังนั้น การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวนี้ ขอให้ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการระบาดซ้ำของโควิด หากได้รับวัคซีนตามคำแนะนำ แม้ว่าติดเชื้อก็จะไม่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต

                 “กระทรวงสาธารณสุขใช้แนวคิดการทำงานคือ HEALTH FOR WEALTH ใช้ระบบสาธารณสุขพัฒนาประเทศไทยให้เศรษฐกิจกลับมาแข็งแรง โดยไม่ได้มองเพียงมิติเดียว แต่มองไกลไปถึงว่า ระบบสุขภาพของไทยมีส่วนกระตุ้นและสนับสนุนธุรกิจการค้าการลงทุนต่าง ๆ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรและกัญชา เพื่อการส่งเสริมสุขภาพรักษาโรคภายในประเทศและการส่งออก การพัฒนาให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการบริการสุขภาพของโลก เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่ม Health Tourism และกระทรวงสาธารณสุข เพราะเชื่อว่า การพัฒนาสุขภาพให้ดี จะส่งผลให้เศรษฐกิจและสังคมดีตามมา คนไทยต้องปลอดภัยสาธารณสุขไทยรับประกัน” นายอนุทินกล่าวในตอนท้าย

******************************* 16 มิถุนายน 2565

*******************************************************************

 

 



   
   


View 2598    16/06/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ