กระทรวงสาธารณสุข จับมือกระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาสุขภาพเด็กนักเรียน กว่า 10 ล้านคน ขณะนี้พบมีปัญหา กว่า 2 ล้านคน ทั้งเรื่องเตี้ย อ้วน หูตาผิดปกติ และเหา โดยจะเริ่มปลูกฝังให้ออกกำลังกายหลังเคารพธงชาติทุกวันวันละ 10 นาที ให้ติดเป็นนิสัย มั่นใจจะช่วยลดปัญหาการหมกมุ่นเล่นเกมคอมพิวเตอร์ของเยาวชนได้
บ่ายวันนี้ (6 สิงหาคม 2551) ที่กระทรวงศึกษาธิการ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อสร้างสุขภาพและทักษะชีวิตในการดูแลสุขภาพอนามัยของเด็กนักเรียน ที่อยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทั้งหมด 10 ล้านกว่าคน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงอาชีวศึกษา เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่พ.ศ.2551-2553 เน้น 3 เรื่องใหญ่ได้แก่ การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและทักษะชีวิตนักเรียนในมิติต่างๆตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เสริมสร้างสุขภาวะทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและปัญญา และการป้องกันปัญหาที่มีผลต่อนักเรียน เช่น การออกกำลังกาย อาหาร ส้วม การคุ้มครองผู้บริโภค การควบคุมป้องกันยาเสพติด และอนามัยเจริญพันธุ์ เป็นต้น โดยจะพัฒนาผ่านทางโรงเรียนที่ได้รับการประกาศให้เป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ 31,633 แห่ง ซึ่งมีประมาณร้อยละ 94 ของโรงเรียนทั่วประเทศ และได้ร่วมมือกันมาแล้วเป็นเวลา 10 ปี
นายวิชาญ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะส่งเสริมสุขภาพของเด็กวัยเรียนให้มีสุขภาพดีพร้อมที่จะศึกษาเล่าเรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ เพราะหากเด็กเจ็บป่วย ก็จะส่งผลกระทบต่อการเรียน โดยเฉพาะหากเป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายขาด เช่น โรคเบาหวาน จะเกิดปัญหาระยะยาว ผลการสุ่มสำรวจสุขภาพและพฤติกรรมของเด็กนักเรียนจำนวน 8,510 คน ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงอาชีวศึกษา ในพ.ศ. 2550 โดยกรมอนามัย พบกว่า 2 ล้านคนมีปัญหาหลายเรื่อง ทั้งเตี้ย สายตาผิดปกติ หูตึง ปัญหาอ้วน การมีพฤติกรรมเสี่ยงอันตรายทั้งเหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ ปัญหาสุขภาพจิต การมีเพศสัมพันธ์ที่เร็วขึ้น
นายวิชาญกล่าวต่อว่า ในความร่วมมือครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะจัดสรรงบประมาณดำเนินการให้ปีละ 10 ล้านบาท โดยจะสนับสนุนวิชาการให้แก่ครู ผู้บริหารโรงเรียนและผู้นำนักเรียน ตรวจสุขภาพนักเรียน ที่สำคัญในเดือนหน้านี้จะมีการรณรงค์ให้เด็กออกกำลังกายหลังเคารพธงชาติครั้งละ 10 นาที ทุกวัน เพื่อปลูกฝังให้เด็กรักการออกกำลังกายจนติดเป็นนิสัย สามารถแก้ปัญหาเด็กติดเกม ซึ่งมีข้อมูลน่าห่วงว่าในเด็กประถมศึกษาขณะนี้ ออกกำลังกายเพียงร้อยละ 50 ส่วนระดับมัธยมและอาชีวะ ใช้เวลาว่างเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ดูทีวีมากกว่าวันละ 2 ชั่วโมง หากมีการเบนเข็มให้มาออกกำลังกายจะลดปัญหาการติดเกม ปัญหาหนีเรียน ปัญหาอ้วนเพราะกินแล้วนั่งนอนๆ และปัญหาสายตาเสื่อมจากการจ้องหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ
ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่าผลสำรวจสุขภาพและพฤติกรรมของเด็กนักเรียนอนุบาลถึงอาชีวศึกษาในเดือนกรกฎาคมกันยายน พ.ศ. 2550 ปัญหาสุขภาพของเด็กประถมที่พบอันดับ 1 ได้แก่ เหา ร้อยละ 10 หรือเกือบ 6 แสนคน ทำให้สมาธิการเรียนเด็กไม่ดีเท่าที่ควร รองลงมาคือปัญหาเตี้ย สายตาผิดปกติ อย่างละร้อยละ 4 หรือประมาณ 2 แสนคน และหูตึงร้อยละ 2 หรือประมาณ 1 แสนคน
ในเด็กระดับมัธยมและระดับอาชีวศึกษา ปัญหาที่พบคล้ายกัน อันดับ1 ได้แก่ อ้วน ระดับมัธยมพบร้อยละ 12 หรือจำนวน 4 แสนกว่าคน ระดับอาชีวะ พบร้อยละ 15 ชายหญิงอ้วนพอๆกัน ประมาณ 1 แสนคน รองลงมาคือสายตาผิดปกติเช่นสายตาสั้น/ เอียง ในระดับมัธยมพบร้อยละ 10 อาชีวศึกษาพบร้อยละ 9
นอกจากนี้ในกลุ่มอาชีวศึกษา ยังมีพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย ที่พบมากที่สุด ได้แก่ เคยดื่มเหล้า เบียร์ มีร้อยละ 44 รองลงมาคือเคยมีเพศสัมพันธ์ ร้อยละ 21 อายุที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกน้อยกว่า 10 ปี เคยหนีเรียนร้อยละ 33 เคยสูบบุหรี่ร้อยละ 16 เคยบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจักรยานยนต์ร้อยละ 15 ยกพวกตีกันร้อยละ 13 เคยมีอาการเหงา ร้อยละ 11 เคยคิดฆ่าตัวตายร้อยละ 7 เคยถูกทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 6 เคยเสพสารเสพติดเช่นกัญชา ยาบ้า ดมกาว ร้อยละ 5
สำหรับเด็กมัธยมศึกษา เคยดื่มเหล้า ร้อยละ 21 เคยสูบบุหรี่ ร้อยละ 6 เคยมีเพศสัมพันธ์ร้อยละ 3 เคยหนีเรียนร้อยละ 16 เคยถูกทำร้ายร่างกายร้อยละ 3 เคยตีกันร้อยละ 10 เคยมีอาการเหงาร้อยละ 8 เคยคิดฆ่าตัวตายร้อยละ 7 และเคยเสพสารเสพติดเกือบร้อยละ 1
View 20
06/08/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ