สธ.เผย “อหิวาต์” จ.ตาก ควบคุมได้แล้ว ไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม ออก 6 มาตรการเข้มป้องกันช่วงสังสรรค์ปีใหม่
- สำนักสารนิเทศ
- 492 View
- อ่านต่อ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน จังหวัดอ่างทอง ทบทวนองค์ความรู้การดูแลสุขภาพ การเฝ้าระวังป้องกันโรค และทักษะที่จำเป็นในระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้กับ อสม. พร้อมมอบอุปกรณ์สำหรับฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส เพิ่มคุณภาพชีวิต
วันนี้ (29 พฤษภาคม 2565) ณ อาคารสำนึกรักบ้านเกิด องค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และร่วมเป็นสักขีพยาน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน จังหวัดอ่างทอง ระหว่าง นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัด เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ นายสุรเชษ นิ่มกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง พลตำรวจตรีวิชิต บุญชินวุฒิกุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอ่างทอง นายแพทย์ธนะวัฒน์ วงศ์ผัน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง และ แพทย์หญิงดวงพร อัศวราชันย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอ่างทอง เพื่อบูรณาการร่วมกันในการบริหารจัดการให้ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทันท่วงที ปลอดภัย และเท่าเทียม ลดความพิการและเสียชีวิต ถือเป็นแห่งแรกของเขตสุขภาพที่ 4
นายอนุทินกล่าวว่า แม้ขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด 19 จะเริ่มดีขึ้น และเตรียมปรับมาตรการต่าง ๆ เพื่อเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น แต่ยังคงต้องเฝ้าระวัง ป้องกันตนเอง และเข้ารับวัคซีนตามกำหนด ซึ่ง อสม. คือกำลังสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขในการดำเนินการต่างๆ ในพื้นที่ การพัฒนาองค์ความรู้ให้กับ อสม. ทั้งเรื่องการเฝ้าระวังป้องกันโรคโควิด 19 และโรคอุบัติใหม่ การดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้น รวมถึงทักษะการกู้ชีพ และทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นในการช่วยชีวิตเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้ามามีส่วนร่วมในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน จะช่วยให้งานสาธารณสุขในพื้นที่มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น และจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อประชาชนในจังหวัดอ่างทอง
นอกจากนี้ ได้มอบอุปกรณ์ฟื้นฟูสมรรถภาพ อาทิ ขาเทียม รถเข็นนั่ง ไม้เท้าพยุงตัว หมอนป้องกันแผลกดทับ ให้กับผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ได้นำใช้ในการฟื้นฟูตนเองต่อเนื่องที่บ้าน เป็นการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และมอบเงินกรมธรรม์ให้กับ อสม.ที่ติดเชื้อโควิด 19 จากการปฏิบัติหน้าที่ รายละ 20,000 บาทจำนวน 276 รายรวมเป็นเงิน 5,520,000 บาท
********************************************* 29 พฤษภาคม 2565
****************************