สธ.เผย “อหิวาต์” จ.ตาก ควบคุมได้แล้ว ไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม ออก 6 มาตรการเข้มป้องกันช่วงสังสรรค์ปีใหม่
- สำนักสารนิเทศ
- 497 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เผย คณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบให้ “ฝีดาษวานร” เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากยังไม่แพร่เป็นวงกว้าง และประเทศไทยยังไม่พบผู้ป่วยหรือผู้ป่วยสงสัยเข้าประเทศ โดยพบผู้ป่วยในยุโรป และเป็นสายพันธุ์ West African ที่มีความรุนแรงน้อย อัตราป่วยตาย 1%
วันนี้ (25 พฤษภาคม 2565) ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคผีดาษวานร (Monkeypox) ว่า เป็นโรคที่แพร่ระบาดในประเทศแถบแอฟริกามาหลายปี แต่ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มพบผู้ป่วยในประเทศแถบยุโรป มีความเชื่อมโยงกับการเดินทางไปแอฟริกา และมีการแพร่ระบาดภายในบางประเทศ โดยผู้ติดเชื้อในยุโรปขณะนี้มีรายงาน 257 ราย ใน 18 ประเทศ ประเทศที่มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ คือ เดนมาร์ก โมรอกโก และอาร์เจนตินา โดยข้อมูลทางระบาดวิทยาเท่าที่มีรายงาน พบเป็นเพศชาย 122 คน เพศหญิง 1 คน เป็นวัยทำงานอายุ 20-59 ปี จำนวน 61 คน รายงานอาการป่วย 57 คน พบเป็นผื่น/ตุ่มนูน 98% ไข้ 39% ต่อมน้ำเหลืองโต 26% และไอ 2% โดยลักษณะของผื่น เป็นตุ่มแผลก้นลึก 75% ตุ่มน้ำใส 9% ผื่นนูน/ตุ่มหนอง 2% บริเวณที่พบส่วนใหญ่เป็นเนื้อเยื่ออ่อน เช่น อวัยวะเพศ 39% ปาก 30% และรอบทวารหนัก 2% ตรวจพบสายพันธุ์ West African 9 ราย
ทั้งนี้ โรคฝีดาษวานรมี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ West African Clade ซึ่งอัตราป่วยตายอยู่ที่ 1% ต่ำกว่าสายพันธุ์ Central African Clade ซึ่งมีอัตราป่วยตาย 10% มีสัตว์ที่เป็นรังโรค คือ สัตว์ฟันแทะและลิง ติดต่อจากสัตว์สู่คน ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือแผลของสัตว์ที่ป่วย ส่วนการติดจากคนสู่คน จะผ่านการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยมากๆ สัมผัสกับแผลหรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยโดยตรง หรือเสื้อผ้าของใช้ผู้ป่วยที่มีสารคัดหลั่ง ซึ่งบางประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการโควิด มีการรวมกลุ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการระบาดเพิ่มขึ้นช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับระยะฟักตัวอยู่ที่ 5-21 วัน อาการป่วยส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรุนแรง ช่วง 5 วันแรก จะมีอาการนำ คือ ไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ และหมดแรง ระยะนี้เริ่มแพร่เชื้อได้บ้างแล้ว และช่วงออกผื่น 2-3 วันหลังมีไข้ จะมีผื่นขึ้นเริ่มจากใบหน้า ลำตัว แขนขา รวมถึงบริเวณที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อน เช่น ช่องปาก และอวัยวะเพศ เริ่มจากตุ่มนูนแดงเล็กๆ เป็นตุ่มใส ตุ่มหนอง เมื่อแตกจะมีแผลเป็นหลุม ส่วนใหญ่หายเองได้ บางรายอาจมีเป็นแผลเป็น และบางรายอาการรุนแรง โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาสุขภาพเดิม อาจมีปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อที่กระจกตาทำให้สูญเสียการมองเห็นได้
นพ.จักรรัฐกล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง โดยศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีโรคฝีดาษวานร กรมควบคุมโรค ซึ่งคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเห็นชอบให้จัดโรคฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากยังไม่มีผู้ป่วยในประเทศ การแพร่กระจายของโรคเป็นลักษณะของการใกล้ชิดกันมากๆ เฉพาะกลุ่ม และยังไม่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างไปหลายทวีป อัตราป่วยตายยังเป็นสายพันธุ์ที่ป่วยรุนแรงน้อย โดยจะเฝ้าระวังผู้เดินทางเข้าประเทศที่มีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการป่วยอย่างน้อยหนึ่งอย่าง คือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หรือมีผื่นตุ่มนูน ร่วมกับประวัติเดินทางหรืออาศัยในประเทศที่มีรายงานการระบาด มีประวัติร่วมกิจกรรมที่มีรายงานพบผู้ป่วยเข้าข่ายหรือยืนยัน และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ป่าประเภทสัตว์ฟันแทะ ลิง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนำเข้าจากแอฟริกา นอกจากนี้ ยังเฝ้าระวังผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาล คลินิกโรคผิวหนัง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พร้อมทั้งเตรียมการในการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ทีมสอบสวนโรค รวมถึงเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ไว้แล้ว
********************************************* 25 พฤษภาคม 2565