รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบกรมการแพทย์เร่งพัฒนาเทคนิคการรักษาผู้ป่วย เพื่อขยายบริการไปในต่างจังหวัด โดยเฉพาะระบบดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแบบทางด่วนภายใน 3 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ เพื่อลดการเสียชีวิต ป้องกันอัมพาต มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคนี้ปีละกว่า 15,000 ราย อยู่ในภาวะเสี่ยงอีก 11 ล้านคน นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเปิดประชุมวิชาการประจำปีของกรมการแพทย์ ซึ่งจัดที่ห้องประชุมอาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพมหานคร เมื่อบ่ายวันนี้ (4 สิงหาคม 2551) ว่า ปัญหาสุขภาพของประชาชนไทยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะโรคเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบคนเมือง และผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ได้มอบนโยบายให้กรมการแพทย์ ซึ่งมีศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางในกทม.และปริมณฑล 12 แห่ง เร่งศึกษาวิจัย พัฒนาวิชาการ เทคโนโลยีด้านการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ และถ่ายทอดให้โรงพยาบาลในต่างจังหวัด เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการรักษาพยาบาลที่ดีที่สุด นายวิชาญ กล่าวต่อว่า โรคที่น่าห่วงขณะนี้คือ โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งร้อยละ 10 เสียชีวิต อีกร้อยละ 50 - 60 มีความพิการ เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ แนวโน้มการป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในรอบปี 2550 มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 15,000 กว่าราย มากเป็นอันดับ 3 รองจากโรคมะเร็ง และอุบัติเหตุ กลุ่มที่เสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมอง คือผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ และเครียด ทำให้หลอดเลือดตีบตันได้ง่าย จากการสำรวจคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศครั้งล่าสุดในปี 2547 พบคนเสี่ยงเป็นโรคนี้มากถึง 11 ล้านคน หากไม่เร่งจัดระบบรักษา เชื่อว่าอนาคตคนไทยจะมีคนพิการเพราะป่วยด้วยโรคนี้มากขึ้น ในทางการแพทย์พบว่ากลุ่มหลอดเลือดสมองตีบหรือตันนั้น หากได้รับการดูแลรักษาด้วยการฉีดยาละลายลิ่มเลือดภายใน 3 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ จะมีโอกาสรอดชีวิตและลดความพิการได้มากขึ้น จึงได้มอบให้สถาบันประสาทวิทยา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านนี้ เร่งพัฒนาระบบและขยายผลไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ ด้านนายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานของกรมการแพทย์ได้พัฒนาเทคนิคการรักษาผู้ป่วยอยู่ในระดับแนวหน้า เกือบ 20 บริการ อาทิ ศูนย์ไข้เลือดออกที่สถาบันสุขภาพเด็กมหาราชินี ที่ได้รับการยอมรับว่าอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก การอบรมพยาบาลให้ใช้เทคโนโลยีถ่ายภาพจอประสาทตาคัดกรองในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานป้องกันตาบอด โดยสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ การศึกษาระดับโมเลกุล เพื่อแก้ไขปัญหาเชื้อโรคดื้อยา การรักษาโรคที่เกิดจากพันธุกรรม โดยศูนย์วิจัยชีวโมเลกุล รพ.ราชวิถี คลังทดสอบสารก่อภูมิแพ้ผิวหนังที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยสถาบันโรคผิวหนัง การใช้เลเซอร์สลายนิ่วแทนใช้คลื่นเสียงโดยรพ.สงฆ์ ซึ่งได้ผลดีลดความบอบช้ำเนื้อเยื่อ การออกกำลังกายในน้ำฟื้นฟูกล้ามเนื้อของสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ การผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจแทนการเปลี่ยนไปใช้ลิ้นหัวใจเทียม โดยสถาบันโรคทรวงอก และการรักษาป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง โดยสถาบันประสาทวิทยา และได้ทยอยถ่ายทอดให้โรงพยาบาลต่างจังหวัด เช่น การป้องกันโรคตาบอดจากเบาหวาน ทางด้านนายแพทย์มัยธัช สามเสน ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า สถาบันประสาทวิทยา ได้พัฒนามาตรฐานการรักษา ส่งเสริม ป้องกัน และฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ร่วมกับโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย ราชวิทยาลัยต่างๆ และสมาคมวิชาชีพ โดยเปิดทางด่วนสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Fast Track) ได้แก่ พูดไม่ออก พูดไม่ชัด สับสนทันทีทันใด แขนขาอ่อนแรง – ชา หรือขยับไม่ได้ทันทีทันใด ปากหรือหน้าเบี้ยว ตาข้างใดข้างหนึ่งมัว มองไม่เห็นหรือเห็นภาพซ้อน เสียการทรงตัว หรือหมดสติ เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรับการฉีดยาละลายลิ่มเลือดอย่างรวดเร็วภายใน 3 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ ซึ่งเป็นวิธีการรักษามาตรฐานในระดับสากล พบว่าได้ผลดีถึงร้อยละ 50 จากเดิมที่รักษาวิธีปกติหายดีร้อยละ 30 และตั้งหอดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันอย่างครบวงจร และร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขยายเครือข่ายไปยังโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลจังหวัดที่มีความพร้อมทั่วประเทศในปีหน้า ซึ่งจะทำให้มีรพ. 15 แห่งร่วมโครงการ ได้แก่ สถาบันประสาทวิทยา รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.พระมงกุฎเกล้า รพ.ศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ รพ.ลำปาง รพ.พุทธชินราชพิษณุโลก รพ.สรรพสิทธิประสงค์ รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.สระบุรี รพ.ชลบุรี รพ.พระปกเกล้าจันทบุรี รพ.หาดใหญ่ และรพ.สุราษฎร์ธานี ช่วยให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งในกทม. และต่างจังหวัดได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ สถาบันประสาทวิทยา ได้ทำโครงการศึกษาระบาดวิทยาโรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทย เป็นครั้งแรกของประเทศ เพื่อศึกษาปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคและปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคของคนไทย โดยสำรวจในกลุ่มอายุ 45 - 80 ปี ใน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช เริ่มตั้งแต่พ.ศ. 2549 จำนวน 20,000 ราย จากการเก็บข้อมูลเบื้องต้นพบว่า มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองสูง โดยร้อยละ 65 มีไขมันในเลือดสูง รองลงมาเป็นโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 43 โรคอ้วนร้อยละ 41 และเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 16 โดยจะติดตามปัญหาสุขภาพคนกลุ่มตัวอย่างนี้ จนกระทั่งเสียชีวิตว่าเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนและกำหนดเป็นนโยบายการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองของประเทศไทยต่อไป ************************************* 4 สิงหาคม 2551


   
   


View 12    04/08/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ