รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ห่วงปัญหาไข้เลือดออก ยังระบาดไม่หยุด ในปีนี้มีรายงานผู้ป่วยกว่า 40,000 ราย เสียชีวิตแล้ว 48 ราย พบมากที่สุด 5 จังหวัด คือกทม. มีมากที่สุด 3,000 กว่าราย รองลงมาคือราชบุรี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ระยอง สั่งให้ทุกจังหวัด ร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ่นหมอกควันกำจัดยุงตัวแก่ให้ถูกเทคนิค ตรงเป้า โจมตีตอนยุงลายออกหากิน และรณรงค์ทุกบ้านทำลายลูกน้ำทุก 7 วัน
นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์ไข้เลือดออกในขณะนี้ว่า ยังน่าเป็นห่วง โรคยังระบาดไม่หยุด รายงานจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551- 26 กรกฎาคม 2551 พบผู้ป่วย 41,307 ราย เสียชีวิต 48 ราย พบมากที่สุดภาคกลาง 20,052 ราย รองลงมาภาคเหนือ 9,698 ราย ภาคใต้ 5,845 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5,712 ราย โดย 5 จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 3,763 ราย เสียชีวิต 5 ราย รองลงมาคือ ราชบุรี 1,710 ราย นครสวรรค์ 1,582 ราย เพชรบูรณ์ 1,304 ราย ระยอง 1,291 ราย
นายวิชาญ กล่าวว่า ได้สั่งการกำชับทุกจังหวัดให้ความสำคัญเพิ่มความเข้มข้นในการควบคุมป้องกันโรค โดยให้ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล และกรุงเทพมหานคร ทำการพ่นหมอกควันเพื่อกำจัดยุงลายตัวแก่ซึ่งเป็นตัวการก่อปัญหากัดและดูดเลือดคนในตอนกลางวัน และนำเชื้อไปแพร่ต่อ คนทุกวัยมีสิทธิ์ติดเชื้อได้เหมือนกัน จึงต้องเร่งกำจัดเพื่อลดปริมาณยุงตัวแก่ไม่ให้ไปวางไข่ต่อ และขณะเดียวกันรณรงค์ให้ประชาชนทุกบ้านทุกชุมชน ช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายที่อยู่ในภาชนะต่างๆในบ้านที่มีน้ำขัง และภาชนะที่อยู่รอบๆบ้านทุก 7 วัน ก็จะทำให้ปริมาณยุงตัวใหม่น้อยลง โดยเฉพาะใน 5 จังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุด จะต้องทำอย่างเข้มข้น หนักหน่วง
นอกจากนี้ขอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขทุกพื้นที่ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน ทั้งด้วยตนเองหรือผ่านทางวิทยุชุมชน หอกระจายข่าว ในเรื่องอันตรายของไข้เลือดออก ทั้งเรื่องยุงลาย และอาการป่วยของไข้เลือดออก เพื่อให้ประชาชนร่วมกันทำลายยุงลาย ป้องกันไม่ให้ป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคนี้
ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เครื่องพ่นหมอกควันกำจัดยุงลายในขณะนี้ มี 2 ชนิด คือชนิดละอองฝอย กับชนิดหมอกควัน แบบสะพายหลังเดินพ่นและติดกับรถยนต์ ซึ่งในการพ่นจะต้องพ่นเวลาประมาณ 10.00 น. ถึงก่อนเที่ยง ซึ่งเป็นช่วงที่ยุงลายออกหากินตามธรรมชาติ สารเคมีจะทำให้ยุงตายทันที หากพ่นเวลาอื่นจะได้ผลน้อย โดยกรมควบคุมโรคจะให้ศูนย์โรคติดต่อนำโดยแมลง สนับสนุนการจัดอบรมฟื้นฟูวิธีการพ่นหมอกควันให้เจ้าหน้าที่ประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ถูกวิธี ตรงเป้า ให้มีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก โดยสามารถติดต่อประสานงานได้ที่กรมควบคุมโรค จ.นนทบุรี และที่สำนักงานควบคุมโรคประจำเขตซึ่งอยู่ใน 12 จังหวัดได้แก่ กทม. สระบุรี ชลบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช และสงขลา
****************************** 31 กรกฎาคม 2551
View 13
31/07/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ