กระทรวงสาธารณสุข จับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดอบรมพยาบาลล้างไตทางช่องท้องหลักสูตร 4 เดือน จำนวน 70 คน รุ่นแรกของประเทศไทย รองรับการขยายบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายด้วยวิธีล้างไตทางช่องท้องในปีนี้ 100 แห่ง ตั้งเป้าเพิ่มการเข้าถึงผู้ป่วยให้ได้ 600 ราย และเพิ่มให้ได้ 3,000 ราย ภายในปี 2552
นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย สภาการพยาบาล ชมรมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดอบรมพยาบาลจากโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ในหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้อง จำนวน 70 คน นับเป็นรุ่นแรกในประเทศ รับรองโดยสภาการพยาบาล อบรมเป็นเวลา 4 เดือน ที่วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย ตั้งแต่ 30 มิถุนายน ถึง 31 ตุลาคม 2551นี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพของพยาบาลวิชาชีพรองรับบริการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และต้องล้างไตทางช่องท้องในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจะขยายบริการครอบคลุมทุกจังหวัด ในโรงพยาบาล 100 แห่งทั่วประเทศภายในเดือนตุลาคม 2551 นี้
นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการดูแลผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องเพียง 15 คนเท่านั้น จึงต้องเร่งจัดอบรมพยาบาลเพิ่ม ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ได้รับการดูแลทั่วถึงยิ่งขึ้น เนื่องจากการล้างไตทางช่องท้องนี้ เป็นวิธีที่ผู้ป่วยสามารถทำเองที่บ้านได้ ไม่ต้องเสียเวลาไปโรงพยาบาล โดยพยาบาลโรคไต 1 คน จะสามารถดูแลผู้ป่วยได้ประมาณ 50-75 คน
ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมีประมาณ 18,000 ราย เป็นโรคที่ไม่หายขาด มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 15,000 ราย การรักษาที่ได้ผลดีที่สุดคือการผ่าตัดเปลี่ยนไต ซึ่งมีข้อจำกัดเนื่องจากมีผู้บริจาคน้อยมาก ปีหนึ่งได้เปลี่ยนเพียง 300 ราย ที่เหลือจึงต้องฟอกไตเพื่อยืดอายุไว้ โดยมีโรงพยาบาลที่ให้การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 301 แห่ง ล้างไตผ่านทางช่องท้องได้ 56 แห่ง แต่ละปีมีผู้ป่วยใหม่ที่ต้องฟอกเลือด 6,792 ราย และล้างไตผ่านช่องท้องปีละ 388 ราย ทั้งนี้หลังจากเริ่มให้บริการ ล้างไตผ่านทางช่องท้อง เดือนมกราคม 2551 เพียง 1 เดือน มีผู้ป่วยใหม่เข้ารับบริการกว่า 100 ราย และขึ้นทะเบียนรอคิวอีกจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เร่งเพิ่มบริการ ตั้งเป้าให้ได้ 600 รายภายในเดือนกันยายน 2551นี้ และภายในปี 2552 จะเพิ่มให้ได้ 3,000 ราย
ทางด้านนายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคไตวายที่พบขณะนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตอักเสบ นิ่วในไต การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม มีข้อจำกัดที่ผู้ป่วยต้องมารับบริการที่สถานบริการ อาทิตย์ 1-3 ครั้ง ใช้เวลาครั้งละ 4-5 ชั่วโมง ส่วนการล้างไตทางหน้าช่องท้อง ในไทยใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 จนถึงปัจจุบันได้แพร่หลายไปทั่วประเทศ เป็นทางเลือกที่ได้ผลดี เหมาะสมกับประเทศไทย ผู้ป่วยที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว สามารถทำเองที่บ้านได้ และมาพบแพทย์ทุก 2-3 เดือน
ผลการศึกษาในต่างประเทศยืนยันว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้อง มีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงกับผู้ป่วยที่ผ่าตัดเปลี่ยนไต โดยเมื่อมีปัญหา สามารถปรึกษาแพทย์พยาบาลได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านได้ ทั้งนี้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป จะเป็นด่านคัดกรองผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในจังหวัด เพื่อเข้าสู่ระบบการล้างไตทางช่องท้อง และมีระบบการดูแลถึงหมู่บ้านโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อธิบดีกรมการแพทย์กล่าว
****************** 27 กรกฎาคม 2551
View 14
27/07/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ