กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 4 ชูจุดเด่นการเป็นศูนย์รวมความเชี่ยวชาญกัญชาทางการแพทย์ทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทยครบวงจร มีสถาบันวิจัยพัฒนาที่มีศักยภาพหลายแห่ง เป็นเจ้าของภูมิปัญญาตำราโอสถพระนารายณ์ ศึกษาวิจัยพัฒนายากัญชาศุขไสยาศน์ และสำราญนิทรา จนตั้งตำรับยาที่มีคุณภาพมาตรฐานการผลิตสนับสนุนคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในเขตสุขภาพ รวมถึงนำกัญชาผสมอาหารเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว

         วันนี้ (19 มีนาคม 2565) ที่ ศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค จ.พระนครศรีอยุธยา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 4 โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ เอกชน อสม.และประชาชนเข้าร่วมงานจำนวนมาก

         นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินงานกัญชาทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปี ส่งผลให้กัญชากลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความโดดเด่น มีผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชงออกสู่ตลาดอย่างกว้างขวาง ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่เกษตรและผู้ประกอบการ สร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูงกว่า 7 พันล้านบาท รวมทั้งเกิดความมั่นคงทางยา ประชาชนมีทางเลือกในการรักษาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในการจัดประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 4 ครั้งนี้ ได้นำเสนอจุดเด่นของการเป็นศูนย์รวมความเชี่ยวชาญด้านกัญชาทางการแพทย์ทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทยแบบครบวงจร ตั้งแต่ภาคเกษตรกรรมจนถึงภาคอุตสาหกรรม โดยมีสถาบันวิจัยและศูนย์เชี่ยวชาญด้านกัญชาเพื่อการแพทย์หลายแห่ง และยังมีโรงพยาบาลเสาไห้ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.สระบุรี เป็นสถานที่ผลิตยาที่ได้รับมาตรฐาน GMP ขององค์การอนามัยโลก สามารถผลิตตำรับยาศุขไสยาศน์กระจายให้แก่คลินิกกัญชาทางการแพทย์ในเขตสุขภาพที่ 4 นำไปใช้รักษาผู้ป่วย และยังมีการพัฒนาต่อยอดนำกัญชามาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วถึง 107 รายการ และอยู่ระหว่างรอขึ้นทะเบียนอีกหลายรายการ รวมถึงมีการนำมาผสมในอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น ก๋วยเตี๋ยวเรือกัญชา ขนมไทยเสน่ห์จันทร์ ขนมทองม้วนสด น้ำมะนาวกัญชา น้ำอ้อยกัญชา สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นด้วย

      ด้าน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 4 ประกอบด้วย 8 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง และนครนายก มีสถานที่ปลูกกัญชา-กัญชงที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายในทุกจังหวัดรวม 87 แห่ง มีโรงงานสกัดและแปรรูปกัญชา-กัญชงที่ได้รับอนุญาต 13 แห่ง และมีโรงงานสกัดกัญชงที่ใหญ่ที่สุดแห่งแรกของประเทศ ส่วนคลินิกกัญชาทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชนในทุกจังหวัดรวมทั้งสิ้น 118 แห่ง แยกเป็น ภาครัฐ 62 แห่ง ภาคเอกชน 12 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 44 แห่ง สำหรับ จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นเจ้าของภูมิปัญญาตำราโอสถพระนารายณ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรีได้ศึกษาวิจัยพัฒนายาจากกัญชา ศุขไสยาศน์ และสำราญนิทรา ตั้งแต่กระบวนการปลูก การแปรรูป การวิเคราะห์เครื่องยา จนสามารถตั้งตำรับยาได้ โดยผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยยากัญชามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปี 2565 มีการใช้ยากัญชาแผนปัจจุบัน THC และ THC:CBD ไปแล้วรวม 274 ขวด ส่วนยากัญชาแผนไทยที่ใช้มากที่สุด คือ ยาน้ำมันเดชา ศุขไสยาศน์ ยาทำลายพระเมรุ ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะนอนไม่หลับ เจ็บปวดเรื้อรัง และผู้ป่วยที่ต้องดูแลแบบประคับประคอง

****************************************** 19 มีนาคม 2565

******************************************



   
   


View 147    19/03/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ