รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานคุ้มครองบริโภคด้านอาหาร ยาและการให้บริการด้านรักษาพยาบาล อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กองการประกอบโรคศิลปะ แพทยสภา สปสช. เตรียมพร้อมรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจาก พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้ 24 สิงหาคม 2551 นี้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ต่างจากฉบับเก่าทั้งอายุความ การเรียกค่าเสียหาย บ่ายวันนี้ (25 กรกฎาคม 2551) นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานคุ้มครองผู้บริโภค ประกอบด้วย เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม เลขาธิการคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เลขาธิการคณะคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค อธิบดีกรมบัญชีกลาง เลขาธิการแพทยสภา นายกแพทยสมาคม นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กองการประกอบโรคศิลปะ ประธานชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ประธานชมรมโรงพยาบาลชุมชน ประธานชมรมแพทย์ชนบท และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือเตรียมความพร้อมและพิจารณาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น จากพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายพิพากษาคดีเกี่ยวกับผู้บริโภคเป็นการเฉพาะ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 และจะมีผลบังคับใช้ 23 สิงหาคม 2551 นี้ นายวิชาญ กล่าวว่า พระราชบัญญัติวิธีการพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ฉบับนี้ เป็นกฎหมายใหม่ ที่ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ความเสียหาย จากการบริโภคสินค้าต่างๆ และบริการทางด้านการแพทย์ ทั้งเรื่องการรักษาพยาบาล อาหารและยาที่ไม่ปลอดภัย ให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาด้วยความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ มีทั้งหมด 66 มาตรา ในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเตรียมความพร้อมรับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้ และที่ต้องเน้นหนักที่สุดคือ การพัฒนามาตรฐานบริการประชาชนให้มีความปลอดภัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมา มาตราที่เกี่ยวข้องกับวงการแพทย์คือมาตราที่ 13 บัญญัติว่า ถ้าผู้ประกอบการดำเนินการไปแล้ว ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัยแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยผลสะสมอยู่ในร่างกาย ยังไม่ปรากฏอาการจนกว่าจะต้องใช้เวลาพอสมควร และรู้ตัวผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องรับผิดชอบ ขยายจากกฎหมายละเมิดเดิมที่ใช้ขณะนี้คือ 1 ปี เป็น 3 ปีและไม่เกิน 10 ปี นับตั้งแต่วันรู้ถึงความเสียหาย และอีกมาตราหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์คือ มาตราที่ 40 ให้ศาลที่พิพากษาให้ผู้บริโภคชนะคดี โดยได้รับชดเชยค่าเสียหายต่อร่างกาย สุขภาพหรืออนามัย ให้สามารถสงวนสิทธิ์ที่จะแก้ไขคำพิพากษา เพิ่มค่าเสียหายในภายหลังได้ ถ้าปรากฏว่าเสียหายเพิ่มขึ้นหรือเดือดร้อนมากขึ้น ให้ศาลแก้ไขคำพิพากษาเดิมได้ไม่เกิน 10 ปี นายวิชาญ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาความขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการในโรงพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และอยู่ในกระแสความสนใจของสังคม เนื่องจากเกี่ยวข้องกับชีวิต มีเฉลี่ยปีละประมาณ 150 เรื่อง สาเหตุการร้องเรียนมากที่สุดคือ ไม่รักษามาตรฐาน ส่วนคดีฟ้องร้องแพทย์เข้าสู่ศาลยุติธรรม สาเหตุอันดับ 1 ได้แก่ ผลแทรกซ้อนร้ายแรงจากการรักษา รองลงมาเป็น ความคาดหวังต่อผลสำเร็จสูง การได้รับข้อมูลไม่พอไม่ตรงกัน รวมทั้งเพื่อเรียกร้องค่าชดเชย ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหาร ยา และการให้บริการด้านรักษาพยาบาล ที่ผ่านมามีการดำเนินงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ ถึงหมู่บ้าน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดูแลมาตรฐานอาหาร ยา กองการประกอบโรคศิลปะ ดูแลมาตรฐานสถานพยาบาล สถานบริการเสริมความงาม แพทยสภา สภาพยาบาลดูแลด้านมาตรฐานบุคลากรสาธารณสุข เป็นต้น ส่วนระดับจังหวัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้ดูแล ในหมู่บ้านจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข 8 แสนคนดูแล ในการป้องกันและลดความขัดแย้งจากบริการรักษาพยาบาล ได้กำชับให้ผู้บริหารทุกคน ตระหนักและให้ความสำคัญในการจัดการปัญหาที่รวดเร็ว และจัดตั้งศูนย์เจรจาไกล่เกลี่ยประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่รวม 114 แห่ง ล่าสุดได้สั่งการให้ทุกจังหวัด เปิดสายด่วน 1669 รับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชนในด้านบริการ การรักษาพยาบาล อาหารและยาที่ไม่ปลอดภัย ตลอด 24 ชั่วโมง เริ่มดำเนินงานพร้อมกัน 76 จังหวัด เพื่อขจัดปัญหาที่มีต่อสุขภาพอนามัยให้รวดเร็วที่สุด กรกฎาคม ****************** 25 กรกฎาคม 2551


   
   


View 12    25/07/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ