รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศเดินหน้านโยบายอาหารปลอดภัย เพื่อสุขภาพของคนไทยทั่วประเทศ พร้อมตั้งสภาความปลอดภัยด้านอาหาร ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านอาหารปลอดภัยของประเทศตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสจะทรงเจริญพระชน มายุ 7 รอบ 84 พรรษา ในปี 2554 และเริ่มออกตรวจตลาดสด 22 กรกฎาคม 2551 นี้ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า อาหารเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายให้คนไทยทุกคนได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ปราศจากสารปนเปื้อนอันตราย ในปี 2551-2552 นี้ ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดได้แก่ กรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งองค์กรเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินนโยบายอาหารปลอดภัยของประเทศให้เป็นรูปธรรมใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การพัฒนามาตรฐานร้านอาหาร 2.พัฒนาคุณภาพความปลอดภัยการบริโภคก๋วยเตี๋ยวแบบครบวงจร ตั้งแต่วัตถุดิบ เครื่องปรุง จนถึงร้านค้า 3.การพัฒนาความปลอดภัยของอาหารและน้ำดื่มในโรงเรียน และ 4.การพัฒนาและปรับปรุงระบบบริหารจัดการ การเฝ้าระวังความปลอดภัยและคุณภาพตลอดห่วงโซ่อาหารให้ได้มาตรฐาน ภายใต้พ.ร.บ.คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ โดยจะออกตรวจมาตรฐานตลาดสด อาหารปลอดภัย เริ่มที่ตลาดมีนบุรี ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นไป นายวิชาญ กล่าวต่อว่า ในการพัฒนานโยบายอาหารปลอดภัยให้มีความยั่งยืน กระทรวงสาธารณสุขจะร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสภาความร่วมมืออาหารปลอดภัย ประกอบด้วยภาคผู้ผลิต ภาคการตลาด/ผู้จำหน่าย ภาคผู้บริโภค ภาครัฐ และองค์กรสนับสนุนทางวิชาการและเงินทุน เป็นองค์กรกลางระดับปฏิบัติขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านอาหารปลอดภัยของประเทศตาม วิถีเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินการเป็นเครือข่ายตั้งแต่ระดับชุมชน จังหวัด ภาคและระดับชาติ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเวทีความร่วมมือในแต่ละภาค คาดว่าจะสามารถนำร่องจัดตั้งในชุมชนหรือจังหวัดที่มีความพร้อมได้ในปลายปีนี้ และจะขยายผลไปยังชุมชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ ภายในปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะทรงเจริญพระชนมายุ 7 รอบ 84 พรรษา เพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พระองค์ท่าน ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหาร ตั้งแต่ตุลาคม 2550-พฤษภาคม 2551 พบว่าดีขึ้นมาก อาหารสดในตลาดต่างๆ ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด ปนเปื้อนสารอันตราย 6 ชนิดในภาพรวมไม่ถึงร้อยละ 2 มากสุดได้แก่ ยาฆ่าแมลง ร้อยละ 1.81 รองลงมาเป็น สารฟอกขาว ร้อยละ 1.66 สารเร่งเนื้อแดง ร้อยละ 0.82 ฟอร์มาลิน ร้อยละ 0.6 บอแรกซ์ ร้อยละ 0.3 และสารกันรา ร้อยละ 0.27 ส่วนอาหารพร้อมบริโภคและอาหารถุง จากการเก็บตัวอย่างในเขตกทม. 4,185 ตัวอย่าง พบมีการปนเปื้อนสารเคมีอันตรายและใช้สีสังเคราะห์เกินปริมาณที่กำหนด 431 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 10.3 และพบจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคในอาหาร 229 ตัวอย่างจาก 1,164 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 19.7 สำหรับก๋วยเตี๋ยว ซึ่งเป็นอาหารจานด่วนที่มีคุณค่าตามหลักโภชนาการไม่แพ้ข้าว และคนไทยนิยมบริโภคกันมาก พบว่าส่วนใหญ่ยังใช้วัตถุดิบและเครื่องปรุงที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารอันตราย เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว มีการใช้สารกันเสียชนิดเบนโซอิกเกินมาตรฐาน ผักที่ใช้เป็นส่วนผสม เช่น คะน้า ผักชี ต้นหอมและผักบุ้ง มียาฆ่าแมลงปนเปื้อนร้อยละ 4-11 ในส่วนของเครื่องปรุง พบมีการใช้น้ำส้มสายชูไม่ได้มาตรฐาน ร้อยละ 26 และยังตรวจพบสารพิษอะฟลาท็อกซิน ซึ่งเกิดจากเชื้อรา ในพริกป่นและถั่วลิสง ร้อยละ 19 ซึ่งสารพิษดังกล่าวหากสะสมมากๆ จะทำให้เกิดโรคมะเร็งตับได้ นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า ในปีนี้กรมอนามัยได้ร่วมกับ อย. กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคเอกชน จัดทำโครงการพัฒนาความปลอดภัยในการบริโภคก๋วยเตี๋ยวอย่างครบวงจร เริ่มตั้งแต่ผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายวัตถุดิบ เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว เนื้อสัตว์ ผักสด ลูกชิ้น เครื่องปรุง น้ำดื่ม น้ำแข็ง ต้องมาจากแหล่งที่ได้มาตรฐานหรือผ่านการรับรอง ร้านก๋วยเตี๋ยว ใช้หม้อก๋วยเตี๋ยวที่ปลอดการเชื่อมด้วยสารตะกั่ว มีวิธีการปรุงที่ปลอดภัย และประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ผู้บริโภคเลือกร้านก๋วยเตี๋ยวที่ได้ป้ายปลอดภัยได้มาตรฐาน ********************************* 16 กรกฎาคม 2551


   
   


View 17    16/07/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ