สาธารณสุขเผยผลสำรวจล่าสุดในปี 2549 พบคนไทยมีปัญหาทางจิตมากถึง 6-12 ล้านคน และผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจขณะนี้ ในรอบ 5 เดือนนี้ พบมีความเครียดเกือบร้อยละ 50 ต้นเหตุจากงานและปัญหาการเงิน ร้อยละ 6 คิดฆ่าตัวตายเนื่องจากเงินไม่พอใช้ในครอบครัว จับมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขยายบริการดูแลสุขภาพจิตสู่ชุมชนทั่วประเทศ สร้างวัคซีนใจประชาชนมีความเข้มแข็ง ก้าวผ่านวิกฤติได้
วันนี้ (14 กรกฎาคม 2551) ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นายกองค์การบริการส่วนตำบล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และผู้แทนสถานีอนามัยทั่วประเทศ จำนวน 500 คน เพื่อบูรณาการงานสุขภาพจิตและจิตเวชลงสู่ชุมชนทั่วประเทศ ให้แกนนำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แกนนำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขทุกพื้นที่ เข้ามามีบทบาทร่วมในการพัฒนางานบริการดูแลส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตประชาชน และให้การดูแลผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตที่ฟื้นฟูอยู่ในชุมชนให้เหมาะสม
นายวิชาญ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ปัญหาจากภาวะโลกร้อน ส่งผลกระทบต่อการปรับเปลี่ยนแบบแผนการดำเนินชีวิตของประชาชน ทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล คนมีความอดทนน้อยลง มีการแสดงพฤติกรรม อารมณ์ก้าวร้าว เกิดอาการทางจิต หรือฆ่าตัวตายได้ จากการสำรวจปัญหาสุขภาพจิตในปี 2549 พบประชาชนไทยมีปัญหาทางจิตมากถึงร้อยละ 10-20 ของประชากรหรือประมาณ 6-12 ล้านคน และยังมีปัญหาในชุมชนที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น เช่น ความยากจน ยาเสพติด การติดเชื้อเอดส์ ความรุนแรงในครอบครัว สัมพันธภาพในครอบครัวเสื่อมถอย เด็กถูกทอดทิ้ง ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ในปี 2549 มีผู้ป่วยทางจิตทั่วประเทศเข้ารักษาตัวทั้งหมด 1 ล้าน 3 แสนกว่าคน เพิ่มขึ้นจากปี 2548 จำนวน 2 หมื่นกว่าคน
โดยผลสำรวจสุขภาพจิตของประชาชนในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจค่าครองชีพแพง ล่าสุดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ดำเนินการในจังหวัดใหญ่ๆ และพื้นที่เสี่ยงที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ รวม 20 จังหวัด จำนวน 2,400 คน พบร้อยละ 47 มีภาวะเครียดเนื่องจากปัญหาการงานและปัญหาการเงิน โดยผู้หญิงจะมีความคิดที่จะทำร้ายตัวเองมากกว่าเพศชาย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเงินไม่พอใช้ในครอบครัว หรือต้องพึ่งพาผู้อื่น
นายวิชาญ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างวัคซีนใจ เป็นภูมิคุ้มกันป้องกันผลกระทบทางจิต ให้สามารถก้าวผ่านวิกฤติปัญหาได้ มีนโยบายให้กรมสุขภาพจิตปรับบทบาทการทำงานเชิงรุก บูรณาการงานส่งเสริมสุขภาพจิตและการฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตให้ได้รับการดูแลต่อเนื่องในชุมชน หมู่บ้านทั่วประเทศ ระหว่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทุกระดับ สาธารณสุขอำเภอ ศูนย์สุขภาพชุมชน สถานีอนามัย กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุข และแกนนำชุมชนพื้นที่ เป็นเครือข่ายร่วมกันดูแลประชาชนในพื้นที่ทั้ง 76 จังหวัด ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับการดูแลทางด้านจิตใจได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น
ทางด้านนายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต ได้จัดอบรมด้านวิชาการ และสนับสนุนเทคโนโลยีให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะ อบต. และแกนนำชุมชน เพื่อพัฒนาทั้งด้านการส่งเสริม ป้องกัน และการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยทางจิตที่อยู่ในชุมชน เช่น โรคจิต โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า ปัญญาอ่อน เป็นต้น ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสถานบริการในพื้นที่ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2545 มีอบต. เข้าร่วมโครงการ 912 แห่ง จากการประเมินผลโครงการพบว่าได้ผลดีมาก ประชาชนมีความสุขมากกว่าร้อยละ 70 และรู้จักวิธีจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้องร้อยละ 96 สามารถลดการพึ่งยาเสพติด การดื่มสุราในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า ในปีนี้ได้คัดเลือก อบต. เข้าร่วมโครงการเพิ่มอีกจำนวน 760 แห่ง รวมทั้งหมด 1,672 แห่ง โดยจัดกิจกรรมอบรมเพิ่มความรู้ด้านสุขภาพจิตและจิตเวชให้แก่แกนนำชุมชนและอาสาสมัครสาธารณสุข ให้แกนนำเหล่านี้มีความเข้มแข็งทางใจ เพื่อดูแลสุขภาพจิตของตนเอง บุคคลในครอบครัวและขยายผลสู่ชุมชนได้
************************************* 14 กรกฎาคม 2551
View 17
14/07/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ