ปลัด สธ. สั่งตั้งศูนย์ EOC รับมือ "อหิวาต์" พร้อมให้การสนับสนุนทีมช่วย "เมียนมา" ควบคุมป้องกันโรค เข้มเฝ้าระวังจุดเสี่ยงในไทย
- สำนักสารนิเทศ
- 218 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจมาตรการคัดกรองผู้เดินทางจากต่างประเทศที่ท่าอากศยานสุวรรณภูมิ เตรียมรายงาน ครม.ว่าระบบมีความพร้อมสูง เดินหน้ารับนักท่องเที่ยวต่อได้ เหตุอัตราการติดเชื้อผู้เดินทางต่ำ ขณะที่มาตรการมีความเข้มข้น ระบบสาธารณสุขและรักษาพยาบาลพร้อมรองรับ แม้มีสายพันธุ์โอมิครอน เชื่อปีใหม่นี้ไม่สะดุดหากทุกคนมีความสุขควบคู่กับการมีวินัยป้องกันโรค
วันนี้ (17 ธันวาคม 2564) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เข้าตรวจเยี่ยมกระบวนการคัดกรองผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด 19
ดร.สาธิตกล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจกระบวนการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ ทั้งระบบ Test&Go แซนด์บ็อกซ์ และกักตัว พบว่ามีการจัดระบบเรียบร้อยดี แม้ช่วงแรกที่เปิดประเทศอาจมีอุปสรรคเล็กน้อย แต่เมื่อดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งก็ราบรื่น ขั้นตอนการตรวจสอบ Thailand Pass ใช้เวลาไม่นาน รถรับส่งจากสนามบินไปยังโรงแรมเพื่อตรวจ RT-PCR ได้มาตรฐาน เพียงแต่อนาคตหากผู้โดยสารเข้ามามากขึ้น อาจต้องหารือเพิ่มบุคลากรในการคัดกรอง Thailand Pass ให้คล่องตัวมากขึ้น ถือว่ามีความมั่นใจในระบบคัดกรองได้ เนื่องจากผู้เดินทางต้องได้รับวัคซีน 2 เข็ม มีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง มีประกันสุขภาพ เมื่อมาถึงประเทศไทยต้องตรวจ RT-PCR อีกครั้ง และมีแอปพลิเคชันหมอชนะติดตามตัวหากพบการติดเชื้อในภายหลังจากนี้จะรายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ระบบมีความพร้อมอย่างมากที่จะเดินหน้าต่อ แม้จะมีสายพันธุ์โอมิครอนก็ตาม เนื่องจากผู้เดินทางเข้าประเทศมีอัตราการติดเชื้อต่ำ และมาตรการเราเข้มข้น จึงไม่จำเป็นต้องปิดประเทศ หรือเพิ่มมาตรการใด
ดร.สาธิตกล่าวว่า ส่วนสายพันธุ์โอมิครอนนั้นเชื่อว่าประเทศไทยต้องเจอ แต่ต้องศึกษาว่าจะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ ข้อมูลเบื้องต้นคือแพร่ระบาดได้เร็ว แต่เป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน อาจจะเหมือนไข้หวัด เนื่องจากไม่ได้ลงปอด ซึ่งมาตรการที่ดำเนินการอยู่นี้ยังช่วยเฝ้าระวัง ป้องกัน และติดตามผู้ติดเชื้อได้ นอกจากนี้ ยังเตรียมระบบการดูแลรักษาและยาไว้พร้อม ทั้งการดูแลรักษาที่บ้านและโรงพยาบาล ซึ่งอัตราครองเตียงยังมีว่างทั้งระดับประเทศและ กทม. เครือข่ายสถานพยาบาลทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลทหาร/ตำรวจมีความพร้อมทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หากพบว่าโอมิครอนทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้นก็พร้อมที่จะปรับมาตรการรองรับเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้
“ปัจจุบันสิ่งที่ช่วยป้องกันโอมิครอนได้คือ การมารับวัคซีนควบคู่กับการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด ซึ่งส่วนใหญ่มีการสวมหน้ากากอยู่แล้ว ต้องช่วยกันเว้นระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ หากเฝ้าระวังควบคุมโรคอย่างดีคู่ขนานกับการเปิดเศรษฐกิจ ทุกคนร่วมมือกันเต็มที่ มีความสุขไปพร้อมกับมีวินัยในการเคร่งครัดมาตรการเชื่อว่าเราจะผ่านไปได้ และปีใหม่นี้จะไม่สะดุด ส่วนการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดหลังปีใหม่ ศบค.ได้เน้นให้ข้าราชการทำงานที่บ้านให้มากที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด หลังมีการเดินทางช่วงปีใหม่” ดร.สาธิตกล่าว
*********************************** 17 ธันวาคม 2564
****************************************