รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดอบรมครูในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา ช่วยเยียวยาด้านจิตใจเด็กที่ประสบเหตุการณ์รุนแรงจากความไม่สงบใน 4 จังหวัด ให้มีจิตใจเข้มแข็ง ปรับตัวได้ เผยสถานการณ์ไฟใต้รอบ 52 เดือน ทำร้ายเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี บาดเจ็บ 360 ราย เสียชีวิต 57 ราย มีหญิงหม้าย 1,405 คน เด็กกำพร้า 2,561 คน ประชาชนได้รับผลกระทบรุนแรงจนเกิดบาดแผลทางจิตใจ ต้องบำบัด 24 ราย วันนี้ (9 กรกฎาคม 2551) ที่โรงแรมซีเอส จ.ปัตตานี นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร เปิดการอบรมครูในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาสและสงขลา จำนวน 100 คน เพื่อให้ข้าราชการครูในพื้นที่มีความรู้ สามารถช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยา ฟื้นคืนสภาพ (Resilience) เด็กนักเรียนที่ประสบเหตุการณ์รุนแรงจากความไม่สงบใน 4 จังหวัดภาคใต้ ให้มีจิตใจเข้มแข็ง ปรับตัวได้ ไม่มีผลกระทบระยะยาวเมื่อเติบโตขึ้น นายวิชาญ กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จนถึงพฤษภาคม 2551 มีเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดขึ้น 8,009 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 5,271 ราย เสียชีวิต 2,254 ราย มีหญิงหม้าย 1,405 คน เด็กกำพร้า 2,561 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี บาดเจ็บ 360 ราย เสียชีวิต 57 ราย โดยมีเด็กที่อยู่ในเหตุการณ์สะเทือนใจ ขณะพ่อหรือแม่ถูกทำร้ายแต่เด็กรอดชีวิต 30 คน เฉพาะรอบ 5 เดือนปีนี้ มีผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด 846 ราย โดยนราธิวาส มีหญิงหม้าย 432 คน เด็กกำพร้า 986 คน ยะลา หญิงหม้าย 457 คน เด็กกำพร้า 729 คน ปัตตานี หญิงหม้าย 449 คน เด็กกำพร้า 731 คน และสงขลา หญิงหม้าย 65 คน เด็กกำพร้า 115 คน ซึ่งเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง นอกจากจิตใจจะบอบช้ำจากกรณีสะเทือนขวัญแล้ว เด็กยังมีความทรงจำเหตุการณ์ยากที่จะลืม ซึ่งจะส่งผลถึงพัฒนาการตามวัย จึงต้องเยียวยาและพัฒนาเด็กอย่างต่อเนื่อง นายวิชาญ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิตประจำโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน ของจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอในสงขลา รวม 35 แห่ง มีนักจิตวิทยาแห่งละ 1-3 คน เป้าหมายหลัก 3 กลุ่มคือ กลุ่มประชาชนทั่วไป ซึ่งมีประมาณ 2 ล้านคน กลุ่มเสี่ยง เช่น เจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ ผู้บาดเจ็บ หญิงหม้าย ญาติผู้เสียชีวิต เด็กกำพร้า ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 10,000 คน ขณะนี้มีผู้ได้รับการเฝ้าระวังด้านสุขภาพจิต 662 ราย กว่าครึ่งอยู่ที่จ.นราธิวาส โดยจากการประเมินสภาพจิตใจพบผู้เกิดบาดแผลทางใจหรือโรคพีทีเอสดี (PTSD) มีอาการขวัญผวา เห็นภาพหลอน ต้องได้รับการบำบัด 24 ราย หรือประมาณร้อยละ 13 ของประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรง นอกจากนี้ยังเตรียมจัดตั้งศูนย์เยียวยาและพัฒนาเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง (Child Traumatic Stress Center) นำร่องเป็นแห่งแรกที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา เพื่อดูแลเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง ทั้งเด็กที่ได้รับบาดเจ็บ เด็กที่พบเห็นความรุนแรงต่อหน้า เด็กกำพร้าพ่อ แม่ หรือผู้ดูแล ตลอดจนเด็กที่รับรู้ความรุนแรงจากการบอกเล่าหรือผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งเด็กเหล่านี้อาจมีการจดจำภาพฝังใจและส่งผลกระทบทางจิตใจเมื่อเติบโตขึ้นได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงสถานที่ ทางด้านนายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผู้ที่ประสบกับเหตุการณ์สะเทือนใจ จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตตามมา โดยเฉพาะในเด็ก อาการที่พบได้บ่อยได้แก่ ความกลัว ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า โรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ และการฆ่าตัวตาย เช่นเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ พบว่าเด็กมีปัญหาโรคเครียด ร้อยละ 13 และภาวะซึมเศร้าร้อยละ 11 แต่หากเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญจากน้ำมือมนุษย์ เช่นความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ จากการวิจัยพบว่าจะมีปัญหาสุขภาพจิตสูงกว่าเด็กที่ประสบภัยจากธรรมชาติ 2-3 เท่าตัว สำหรับโครงการอบรมครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องการฟื้นคืนสภาพในเด็กที่ประสบเหตุการณ์รุนแรง ครั้งนี้ นับเป็นรุ่นแรก โดยให้สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ดำเนินการจัดอบรม เพื่อให้ครู ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับเด็กรองจากพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง มีความรู้ ทักษะในการช่วยเหลือด้านจิตใจแก่เด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ให้เด็กมีจิตใจเข้มแข็ง สามารถปรับตัวอยู่กับครอบครัวและสังคมอย่างมีความสุขในสถานการณ์ปัจจุบันได้ โดยตั้งเป้าจะอบรมปีนี้ให้ได้ 500 คน ******************************************* 9 กรกฎาคม 2551


   
   


View 12    09/07/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ