รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำทีมประเทศไทยร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยพิเศษ ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส พร้อมกล่าวถ้อยแถลงสนับสนุนกลุ่มประเทศสมาชิกในการจัดทำร่างข้อตัดสินใจ ตั้งกลไกหารือและต่อรองระหว่างประเทศสมาชิก จัดทำข้อผูกพันด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ สำหรับการเตรียมความพร้อมตอบสนองกับโรคระบาด และสร้างความเข้มแข็งการใช้กฎอนามัยระหว่างประเทศ

          วันนี้ (30 พฤศจิกายน 2564) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกรมควบคุมโรคและกระทรวงการต่างประเทศร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยพิเศษ ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2564 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และเป็นตัวแทนประเทศไทยขึ้นกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม ในการสนับสนุนกลุ่มประเทศ Group of Friends of the Treaty ที่ตกลงร่วมกันจัดทำร่างข้อตัดสินใจ มุ่งเน้นให้มีการจัดตั้งกลไกการหารือและต่อรองระหว่างประเทศสมาชิก (Intergovernmental Negotiating Body : INB) ในการจัดทำข้อผูกพันด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ (legally binding instrument) สำหรับเตรียมความพร้อมและการตอบสนองกับโรคระบาด และสร้างความเข้มแข็งของการใช้กฎอนามัยระหว่างประเทศ ซึ่งผลลัพธ์การประชุมมุ่งหวังให้มีการนำเสนอผลงานของ INB ต่อที่ประชุมสมัชชาสุขภาพ สมัยที่ 76 (ปี 2566) เพื่อยกระดับการเตรียมความพร้อมและการตอบสนองต่อโรคระบาดให้เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของโลก เพื่อให้ประชาคมโลกสามารถจัดการกับโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

      “การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งทุกประเทศควรมีบทบาทในการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีและภูมิปัญญาของตนเอง รวมถึงร่วมแบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับการตรวจจับและการจัดการกับไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์ที่น่ากังวล และให้ทั่วโลกมีความรู้ในการจัดการกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่
เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การระบาดของโควิด 19 แสดงให้เห็นถึงความต้องการการเปลี่ยนแปลงทางความคิดอย่างสิ้นเชิงเพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ ซึ่งแนวคิดใหม่ที่สำคัญคือการมีเครื่องมือที่มีผลผูกพันทางกฎหมายในระดับสากลที่หนักแน่นขึ้น จะทำให้ความสามารถในการตรวจจับ ป้องกัน และตอบโต้โรคระบาดของแต่ละประเทศและทั่วโลก มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ผ่านหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์ บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมทางสังคมและแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว” นายอนุทินกล่าว

         สำหรับโควิดสายพันธุ์ใหม่ ที่ประชุมได้มีการหารือและเห็นตรงกันว่า หากทุกประเทศให้ความสำคัญในการฉีดวัคซีน รักษาระยะห่าง ดำเนินชีวิตแบบวิถีใหม่ ระมัดระวังขั้นสูงสุด ยังสามารถป้องกันตนเองจากไวรัสสายพันธุ์ “โอไมครอน” ได้ และยังมีการขอให้ประเทศสมาชิกฯ เร่งรัดการฉีดวัคซีนประชากรในประเทศให้มากที่สุด สำหรับไทยขณะนี้ฉีดวัคซีนได้แล้วกว่า 70% ซึ่งมากกว่าเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก คือเฉลี่ย 40% ภายในสิ้นปี 2564 และ 70% ภายในกลางปี 2565 ทั้งนี้ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกได้เน้นย้ำให้ประเทศที่เข้าถึงวัคซีนซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีฐานเศรษฐกิจค่อนข้างใหญ่ แบ่งปันและช่วยเหลือประเทศที่ยากจนเข้าไม่ถึงวัคซีน

      หรือประเทศที่ไม่มีความสามารถในการเข้าถึงการต่อรองใดๆ ให้เป็นวาระของโลก เพื่อเดินหน้าสร้างความปลอดภัยให้แก่ทุกประเทศไปด้วยกัน ส่วนนโยบายของรัฐบาลไทยและกระทรวงสาธารณสุข ยังคงเร่งฉีดวัคซีนในคนไทยทุกคน รวมถึงชาวต่างชาติ/ต่างด้าวที่อยู่ในประเทศให้มากที่สุด ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้หารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในการพยายามจัดหาวัคซีนให้แก่ประเทศที่มีโอกาสน้อยกว่าและมีความต้องการในเร็ววันนี้

       นายอนุทินกล่าวต่อว่า สำหรับไวรัสสายพันธุ์ “โอไมครอน” ประเทศไทยพยายามสร้างสมดุล และให้มีประสิทธิภาพในการคัดกรอง โดยสิ่งที่ดำเนินการไปแล้ว คือ การห้ามสายการบินและผู้เดินทางจากทวีปแอฟริกาซึ่งมีการแพร่ระบาดอยู่ ไม่ให้เดินทางเข้าประเทศ จะช่วยคัดกรองได้ระดับหนึ่ง รวมทั้งมาตรการเปิดประเทศที่มีอยู่ ผู้เดินทางต้องผ่านการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 72 ชม. ก่อนเดินทาง มีเอกสารการฉีดวัคซีนที่ประเทศไทยยอมรับ และมีการตรวจหาเชื้อซ้ำเมื่อเดินทางถึง ร่วมกับเสริมความระมัดระวังสายพันธุ์ “โอไมครอน” มากขึ้น ส่วนผู้เดินทางเข้าประเทศผ่านระบบ Test & Go ให้เลื่อนการปรับมาตรวจด้วย ATK เพื่ออำนวยความสะดวกออกไปก่อน โดยให้ตรวจด้วยวิธี RT-PCR เหมือนเดิม เพื่อความปลอดภัยของประเทศ

****************************** 30 พฤศจิกายน 2564



   
   


View 121    30/11/2564   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ