กระทรวงสาธารณสุข ย้ำ ยังไม่พบสายพันธุ์ “โอไมครอน” ในผู้เดินทางเข้าประเทศไทย ส่วนวิธี RT-PCR และ ATK ยังใช้ตรวจหาเชื้อได้ โดยการตรวจหาสายพันธุ์จะใช้เทคนิคตรวจด้วยน้ำยาเฉพาะของสายพันธุ์อัลฟาและเบตา เนื่องจากการกลายพันธุ์มีส่วนเหมือนทั้งอัลฟาและเบตา หากพบทั้งคู่มีสิทธิ์เป็นโอไมครอน ช่วยรู้ผลเร็วกว่าการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว

          วันนี้ (29 พฤศจิกายน 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงกรณีโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ว่า องค์การอนามัยโลกยกระดับสายพันธุ์โอไมครอนเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลตัวที่ 5 ทั้งนี้ ประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังโดยการตรวจรหัสพันธุกรรมสายพันธุ์ต่าง ๆ ต่อเนื่อง ซึ่งตั้งแต่เปิดประเทศเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2564 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับตัวอย่างเชื้อจากผู้เดินทางเข้าประเทศ 75 ตัวอย่าง ตรวจเสร็จแล้ว 45 ตัวอย่าง พบเป็นสายพันธุ์เดลตาหรือสายพันธุ์ย่อยเดลตาทั้งหมด ส่วนอีก 30 ตัวอย่างผลจะออกในเร็วๆ นี้ ล่าสุดได้นำตัวอย่างเชื้อของผู้เดินทางเข้าประเทศในระบบ Test & Go จาก โปแลนด์ รัสเซีย เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม มองโกเลีย ไอร์แลนด์ และลาว มาตรวจรวม 8 ตัวอย่าง พบเป็นเดลตาและสายพันธุ์ย่อยเดลตา ยังไม่พบสายพันธุ์โอไมครอน

          นพ.ศุภกิจกล่าวต่อว่า ในการตรวจหาสายพันธุ์มี 3 วิธี คือ 1.ตรวจ RT-PCR ด้วยน้ำยาเฉพาะของแต่ละสายพันธุ์ เช่น อัลฟา เบตา เดลตา ใช้เวลา 1-2 วัน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีน้ำยาเฉพาะของโอไมครอน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อยู่ระหว่างการพัฒนา 2.การตรวจตำแหน่งรหัสพันธุกรรมว่าเป็นสายพันธุ์ใด ใช้เวลา 3 วัน และ 3.การถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ใช้เวลานาน 5-7 วัน ทั้งนี้ วิธี RT-PCR เป็นวิธีการตรวจมาตรฐานที่ประเทศไทยและทั่วโลกใช้ สามารถตรวจสายพันธุ์โอไมครอนได้โดยกำหนดให้มีการตรวจยีนมากกว่า 1 ยีน หรือตรวจยีนมากกว่า 1 ตำแหน่ง ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่าสายพันธุ์โอไมครอนมีการกลายพันธุ์จนมีส่วนทั้งของอัลฟา ที่ตำแหน่ง HV69-70deletion และเบตา ที่ตำแหน่ง K417N จึงให้ตรวจตัวอย่างด้วยน้ำยาเฉพาะอัลฟาและเบตา หากพบผลบวกทั้งคู่มีโอกาสสูงมากที่จะเป็นโอไมครอน ขณะนี้ได้ประสานศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วประเทศใช้เป็นเทคนิคในการตรวจเพื่อความรวดเร็ว

          สำหรับการตรวจด้วย ATK เบื้องต้นยังสามารถใช้ได้ เนื่องจากมีรายงานการศึกษาทางวิชาการพบว่า การกลายพันธุ์ยังไม่กระทบต่อโปรตีนที่ใช้ในการตรวจ ATK อย่างไรก็ตาม จะประสานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอให้บริษัทผู้ผลิตหรือนำเข้า ATK แสดงข้อมูลที่บ่งบอกประสิทธิผลในส่วนนี้เพิ่มเติม ส่วนกรณีการตรวจผู้เดินทางเข้าประเทศในระบบ Test & Go ที่จะเปลี่ยนจาก RT-PCR มาเป็น ATK นั้นจะมีการทบทวนให้ใช้การตรวจด้วย RT-PCR เหมือนเดิมไปก่อน และกรณีที่พบผลบวกในผู้เดินทางเข้าประเทศทุกระบบ ขอให้ส่งเชื้อมาตรวจรหัสพันธุกรรม เพื่อเฝ้าระวังว่ามีสายพันธุ์โอไมครอนเข้ามาหรือไม่ ทั้งนี้ ยังไม่สามารถระบุถึงความรุนแรง ความสามารถในการแพร่หรือการหลบภูมิคุ้มกันของสายพันธุ์โอไมครอนได้ เนื่องจากข้อมูลมีจำกัด เป็นเพียงการสันนิษฐานจากตำแหน่งที่กลายพันธุ์เท่านั้น แต่การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด และใช้มาตรการป้องกัน คือ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ ลดกิจกรรมรวมกลุ่มที่ไม่จำเป็น ร่วมกับสถานบริการใช้มาตรการ COVID Free Setting ก็จะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อทุกสายพันธุ์ได้

 ****************************** 29 พฤศจิกายน 2564



   
   


View 320    29/11/2564   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ