รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานลงนามความร่วมมือจัดตั้งศูนย์วิจัยกัญชาทางการแพทย์ระหว่างประเทศ ระดมผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศร่วมวิจัยสายพันธุ์และเพาะปลูกพืชกัญชา พัฒนาสารสกัดและสูตรทางการแพทย์ วิจัยทางคลินิก เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระดับโลกและฐานการผลิตยาจากกัญชาระดับ World Class

         วันนี้ (10 พฤศจิกายน 2564) ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพมหานคร (รางน้ำ) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมผู้เชี่ยวชาญกัญชาทางการแพทย์ระหว่างประเทศและพิธีลงนามความร่วมมือการจัดตั้งศูนย์วิจัยกัญชาทางการแพทย์ระหว่างประเทศ ระหว่าง นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และนางนงลักษณ์ โกวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อาร์เอ็กลีฟ เวิลด์ เมดิกา จำกัด โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้เชี่ยวชาญด้านกัญชาทางการแพทย์จากต่างประเทศเข้าร่วม

         นายอนุทินกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ให้เกิดเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย ทั้งการคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสม ส่งเสริมการปลูก เก็บเกี่ยว การสกัดสารสำคัญมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางการแพทย์โดยผลักดัน พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ทำให้นำสารสกัดกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และศึกษาวิจัยได้ ซึ่งมีหลักฐานทางวิชาการชัดเจนว่ามีประโยชน์ในการรักษา เช่น ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัดแล้วเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน, โรคลมชักในเด็กที่รักษายากหรือลมชักที่ดื้อต่อการรักษา, ผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งที่มีภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง, ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเส้นประสาทที่รักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ แล้วไม่ได้ผล และบรรเทาอาการปวด ช่วยให้ผู้ป่วยที่ดูแลแบบประคับประคองหรือระยะสุดท้ายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังใช้เป็นส่วนประกอบในตัวยาแพทย์แผนไทย และยาแก้นอนไม่หลับ

         สำหรับปีงบประมาณ 2565 กระทรวงสาธารณสุขยังเน้นนโยบายส่งเสริมพัฒนาสมุนไพร กัญชา กัญชง กระท่อม และภูมิปัญญาไทย ซึ่งกรมการแพทย์มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานพัฒนาพืชสมุนไพร กัญชา ให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ รายได้ และผู้ป่วยได้เข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ที่เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัท อาร์เอ็กซ์ ลีฟ เวิลด์ เมดิกา จำกัด ในการจัดตั้งศูนย์วิจัยกัญชาทางการแพทย์ระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการวิจัยทางพันธุศาสตร์ของพืชกัญชาทางการแพทย์ พัฒนาสูตรสารสกัด ผลิตยาคุณภาพสูงที่เกิดจากการผสมผสานของกัญชากับพืชสมุนไพรไทย วิจัยทางคลินิก เพื่อการเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ของผู้ป่วยและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน แสดงให้เห็นศักยภาพของประเทศไทย ที่พร้อมเป็นแหล่งความรู้ด้านการวิจัย เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระดับโลก มีการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานระดับสากล โดยตั้งเป้าเป็นฐานการผลิตและพัฒนายาสมุนไพรจากกัญชาระดับ World class ในอนาคต

         นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับบริษัทอาร์เอ็กซ์ ลีฟฯ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาผลิต และจัดจำหน่ายสารสกัดจากพืชเกษตรทางการแพทย์ และสารสกัดจากพืชอื่นๆ ที่ใช้ทางการแพทย์และไม่ได้ใช้ทางการแพทย์ ทั้งในประเทศไทย เอเชีย และประเทศอื่นๆ โดยศูนย์วิจัยกัญชาทางการแพทย์ระหว่างประเทศจะรวบรวมผู้เชี่ยวชาญระดับโลก เช่น แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ เภสัชกร ผู้เชี่ยวชาญด้านกัญชา ร่วมกันทำงานในรูปคณะกรรมการ 3 คณะ คือ 1.คณะกรรมการอำนวยการศูนย์วิจัยกัญชาทางการแพทย์ กรมการแพทย์ 2.คณะกรรมการอำนวยการศูนย์วิจัยกัญชาทางการแพทย์ระหว่างประเทศ และ 3.คณะกรรมการทางการแพทย์ศูนย์วิจัยกัญชาทางการแพทย์ระหว่างประเทศ เพื่อวิจัยสายพันธุ์และการเพาะปลูกพืชกัญชา สารสกัดกัญชาและสูตรทางการแพทย์ การวิจัยทางคลินิกและการเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ของผู้ป่วย จัดตั้งศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระดับโลกระหว่างสถาบันวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ในประเทศต่างๆ เช่น แคนาดา เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และไทย กำหนดระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี และจะมีการทำบันทึกข้อตกลงย่อยเป็นรายกรณี เพื่อกำหนดสัดส่วนของผู้มีส่วนร่วมในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้น

        สำหรับ บริษัท อาร์เอ็กลีฟ เวิลด์ เมดิกา เป็นบริษัทในเครือของ เอมารา เอเชีย (Amara Asia) จำกัด ที่เป็นผู้นำในด้านการปลูกและสกัดกัญชาคุณภาพสูงสำหรับใช้ในทางการแพทย์ มีแปลงปลูกบนพื้นที่ขนาด 67 ไร่ โดยใช้เทคโนโลยีวิธีการแยกสกัดแบบไร้สารตกค้าง Solvent Free ได้ทำให้สารตั้งต้นที่ใช้ในทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ

 ******************************10 พฤศจิกายน 2564

 



   
   


View 540    10/11/2564   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ