กระทรวงสาธารณสุข ระดมหน่วยแพทย์จากจังหวัดข้างเคียง เข้าบริการประชาชนที่ประสบภัยในจังหวัดภาคกลางอย่างเต็มที่ ต่อเนื่อง ยอดผู้ป่วยต่อวันมีประมาณ 20,000 ราย ด้านร.พ.อ่างทอง ระดมแพทย์เฉพาะทาง พยาบาล พร้อมเครื่องมือ ยา ลุยน้ำ จ้ำเรือออกตรวจรักษาผู้ป่วยเรื้อรัง ที่ขาดนัดเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 เพราะติดน้ำท่วมบ้าน พร้อมเตือนภัยผู้ป่วยเบาหวานอย่าเดินลุยน้ำ เพราะเท้าอาจเป็นแผลเปื่อยจากน้ำกัดเท้า เป็นแผล เนื้อเน่าได้ง่าย นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ระดมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จากจังหวัดข้างเคียง เช่นนครปฐม สระบุรี นครราชสีมา ราชบุรี ลงไปช่วยหน่วยแพทย์ในจังหวัดอ่างทอง สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยาด้วย ยอดผู้ป่วยจากน้ำท่วมพบวันละประมาณ 20,000 ราย ส่วนใหญ่เท้าเปื่อย ผื่นคัน และส่งทีมสุขภาพจิตฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่น้ำลดแล้ว โดยขณะนี้ปัญหาสุขภาพจิตพบประมาณร้อยละ 7 และอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง ส่วนใหญ่จะเครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ ในวันพรุ่งนี้นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ที่จังหวัดอ่างทอง สิงห์บุรี เพื่อติดตามประเมินสภาพปัญหาและวางแผนการให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง ทั้งนี้สรุปยอดผู้ป่วยจากน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2549 เป็นต้นมา มีทั้งหมด 427 ,897 ราย พบโรคน้ำกัดเท้า ผื่นคันตามตัวมากที่สุด กว่า 270,000 ราย ทางด้านนายแพทย์นิรันดร์ จันทร์ตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอ่างทอง กล่าวว่า ผลจากจากน้ำท่วมในเขตเมืองอ่างทองมานานเกือบ 3 สัปดาห์ ทำให้ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ที่ขึ้นทะเบียนรักษาประจำกับโรงพยาบาลอ่างทอง ไม่สามารถเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดได้ ทำให้การขาดนัดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 40 จะมีผลทำให้อาการกำเริบรุนแรง ทรุดหนักลงเพราะขาดยา ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยโรคเรื้อรังเช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ ขึ้นทะเบียนรักษาที่โรงพยาบาลจำนวน 240 คน โรงพยาบาลอ่างทองจึงได้จัดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ออกไปติดตามตรวจสุขภาพผู้ป่วยถึงบ้านฟรี โดยนำเครื่องมือตรวจ เช่น เครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดชนิดพกพา รู้ผลแม่นยำภายใน 10 วินาที ซึ่งแพทย์สามารถประเมินอาการ และจ่ายยาควบคุมอาการได้อย่างเหมาะสม และยังสามารถผ่อนคลายความเครียดความกังวล ให้ผู้ป่วยและญาติได้เป็นอันมาก อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาระบบการแพทย์ในภาวะวิกฤติฉุกเฉินได้ครอบคลุมผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวต่อไปว่า จากการออกหน่วยแพทย์เฉพาะทาง ได้ไปติดตามผู้ป่วยโรคเบาหวาน 2 ราย และผู้สูงอายุ ที่หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านแห อ.เมือง จ.อ่างทอง พบผู้ป่วยโรคเบาหวาน 1 ราย ป่วยมาได้ 6 ปีและขาดยา และถูกเงี่ยงปลาดุกทิ่มที่ปลายนิ้วชี้ แผลเริ่มมีการอักเสบ ได้ให้การรักษา ให้สถานีอนามัยดูแลบาดแผลอย่างต่อเนื่อง และขอฝากเตือนผู้ป่วยโรคเบาหวานที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วม เนื่องจากจะทำให้เกิดโรคเท้าเปื่อย เกิดผื่นคันและเป็นแผล จะเป็นอันตราย เพราะบาดแผลหายยากกว่าคนปกติทั่วไป


   
   


View 16    21/10/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ