ปลัด สธ. สั่งตั้งศูนย์ EOC รับมือ "อหิวาต์" พร้อมให้การสนับสนุนทีมช่วย "เมียนมา" ควบคุมป้องกันโรค เข้มเฝ้าระวังจุดเสี่ยงในไทย
- สำนักสารนิเทศ
- 191 View
- อ่านต่อ
คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ เห็นชอบสนับสนุนผู้ป่วยเข้าถึงสิทธิรับบริการและฟื้นฟูตามมาตรฐาน เพิ่มทักษะ ฝึกอบรมและส่งเสริมอาชีพให้ผู้ดูแลผู้ป่วย ขับเคลื่อนมาตรการด้านกฎหมายการเผยแพร่สื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง ของผู้ป่วยและครอบครัว
วันนี้ (23 สิงหาคม 2564) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมคณะกรรมการ สุขภาพจิตแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบออนไลน์ และกล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพจิต ทั้งประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้เกิดความเครียด ทำร้ายตนเอง
ซึ่งบางรายพยายามฆ่าตัวตายจนเกิดการเสียชีวิต คณะทำงานขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการฆ่าตัวตายให้ความสำคัญอย่างมากเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหา จัดหาวิธีเยียวยาเชิงรุกเพิ่มประสิทธิภาพดูแลคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตให้มากขึ้น พร้อมกันนี้ได้ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพจิตครอบคลุมไปถึงบุคคลรอบข้าง และบุคคลที่ดูแลผู้ป่วยเพื่อให้ครอบคลุมทุกมิติ
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า โดยในวันนี้ที่ประชุมได้พิจารณาร่างอนุบัญญัติภายใต้พระราชบัญญัติ สุขภาพจิต จำนวน 6 ฉบับ โดยมีมติเห็นชอบให้หน่วยงานของรัฐและเอกชนดำเนินการเกี่ยวกับการ คุ้มครองสิทธิ ของบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต การให้บริการด้านสุขภาพจิต และการอยู่ร่วมกันในสังคม, กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วย และให้ผู้รับดูแลผู้ป่วยมีสิทธิได้รับ บริการให้คำปรึกษา แนะนำฝึกอบรมทักษะ การจัดการศึกษา และการส่งเสริมอาชีพ ตลอดจนความช่วยเหลืออื่นใด เพื่อให้ดูแลผู้ป่วยต่อไปได้
นอกจากนี้ยังมีมติให้ดำเนินแนวทางการเฝ้าระวังและเผยแพร่ข้อมูลทางสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่ออื่นใด ให้เกิดการเฝ้าระวัง สร้างความรับรู้ สร้างสุขภาพจิตที่ดี ฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ ต้องไม่ทำให้เกิดความรังเกียจเดียดฉันท์ หรือความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของผู้ป่วยและครอบครัว โดยหากพบการฝ่าฝืนให้มีการแก้ไขหรือระงับการเผยแพร่ เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดของผู้อื่นที่อาจเกิดขึ้น และกำหนดโทษเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งนี้ เมื่อร่างอนุบัญญัติภายใต้พระราชบัญญัติสุขภาพจิตผ่านการรับรองแล้วจะสามารถเข้าสู่กระบวนการทำให้อนุบัญญัติครบถ้วนตามกฎหมาย และจะนำไปประกาศใช้ขับเคลื่อนงานต่อไป
******************************** 23 สิงหาคม 2564