สธ.มอบทุกจังหวัดถอดบทเรียนรับมือภาวะฉุกเฉิน "น้ำท่วม" เตรียมพร้อมรับเหตุในอนาคต
- สำนักสารนิเทศ
- 305 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการศึกษาการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์รักษาผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในไทยปี 2563 พบว่าหากได้รับยาเร็วตั้งแต่เริ่มมีอาการภายใน 4 วัน ช่วยลดอาการรุนแรงได้ร้อยละ 30 สอดคล้องกับงานวิจัยในต่างประเทศ
วันนี้ (20 สิงหาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าว ยาฟาวิพิราเวียร์กับการรักษาโควิด 19 ว่า ปัจจุบันยังไม่มียาที่ขึ้นทะเบียนว่าเป็นยารักษาโควิด 19 การนำยาฟาวิพิราเวียร์มาใช้ในการรักษา เนื่องจากเป็นยาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์ยังยั้งจำนวน RNA ทำให้กำจัดไวรัสออกจากร่างกายได้ ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นยารักษาไข้หวัดใหญ่และโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ในการระบาดระลอกแรกปี 2563 มีการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ในประเทศต่าง ๆ เช่นประเทศจีน พบว่า ลดการติดเชื้อได้ดีกว่าใช้ยาต้านไวรัสโลพินาเวียร์ (Lopinavir) และยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir) ที่รัสเซียพบว่า กำจัดเชื้อโควิด 19 ได้ดีกว่าการรักษาตามมาตรฐานในวันที่ 5 นอกจากนี้การศึกษาจากหลายสถาบันของไทยในการระบาดระลอกแรกปี 2563 จำนวน 424 คน พบว่า หากได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ภายใน 4 วันตั้งแต่เริ่มมีอาการ จะลดความรุนแรงได้ร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลังมีอาการ 4 วัน อนึ่ง จากการศึกษาผู้ป่วยกลุ่มเล็ก ๆ ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่ากลุ่มที่มีอาการปอดบวมรุนแรงอาการจะดีขึ้นเฉลี่ยภายใน 14 วันส่วนกลุ่มที่ปอดบวมไม่รุนแรงจะดีขึ้นใน 9 วัน
คณะกรรมการกำกับการดูแลรักษาโรคโควิด 19 ที่ประกอบด้วย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จากกระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยและสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย สมาคมเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น และโรงเรียนแพทย์ อาทิ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ เป็นต้น จึงได้กำหนดการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ไว้ในแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมีการทบทวนและปรับปรุงเป็นระยะ จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ ทั้งประสบการณ์ดูแลรักษาผู้ป่วย และรายงานการศึกษาวิจัยทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งได้หารือเพื่อทำการศึกษาวิจัย ยาใหม่ๆ เช่น ยาไอเวอร์เม็คติน ฟลูวอกซามีน เป็นต้น
สำหรับการวิจัยของ HITAP ได้ทบทวนจาก 12 การศึกษาในต่างประเทศ บางรายงานพบว่ายาฟาวิพิราเวียร์ มีประสิทธิผลในการรักษาโควิด และบางรายงานไม่มีประสิทธิผล ซึ่งประสิทธิผลในการรักษาต้องพิจารณาจากหลายประเด็น เช่น ความรุนแรงของผู้ป่วยโควิด สถานที่การศึกษา เช่น ในหอผู้ป่วยนอก/ หอผู้ป่วยใน ขนาดและปริมาณยาที่ใช้รักษาที่แตกต่างกัน เป็นต้น และส่วนใหญ่ใน 12 การศึกษาเป็นการเปรียบเทียบกับยาอื่นๆ ที่ใช้รักษาในแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการศึกษาที่มีผลเหมือนกันคือ ยาฟาวิพิราเวียร์ มีประสิทธิผลในการลดอาการทางคลินิกใน 7 วัน และ 14 วัน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ใช้ยา ซึ่งสนับสนุนแนวทางการรักษาของไทยที่ปรับปรุงล่าสุด ฉบับที่ 17 ที่เริ่มให้ยาเร็วที่สุดตั้งแต่เริ่มมีอาการ
*********************************** 20 สิงหาคม 2564
********************************************