กระทรวงสาธารณสุข เร่งตั้งศูนย์สุขภาพประจำวัดทั่วประเทศ ดูแลส่งเสริมสุขภาพ รักษาพยาบาลเบื้องต้นพระภิกษุ-สามเณรที่อาพาธ ใช้งบโรงพยาบาลสงฆ์ 100 ล้านบาท ชี้ผลตรวจสุขภาพพระสงฆ์ล่าสุด พบเกือบ 1 ใน 5 กำลังป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และอีกร้อยละ 24-97 จ่อคิวป่วยเพิ่ม ขณะนี้จัดตั้งเสร็จแล้ว 111 แห่ง พร้อมแนะอาหารตักบาตรพระ ควรเป็นอาหารที่มีไขมันน้อย ไม่เค็มจัด หวานจัด วันนี้ (16 มิถุนายน 2551) ที่วัดนิโครธาราม อ.เมือง จ.ตรัง นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ และนายอานนท์ มนัสวานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดการอบรมถวายความรู้ทักษะการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานแก่พระสงฆ์ - สามเณร 150 รูป จัดโดยโรงพยาบาลสงฆ์ กรมการแพทย์ เพื่อจัดตั้งเป็น “ศูนย์สุขภาพสายสัมพันธ์วัด-โรงพยาบาล เฉลิมพระเกียรติ” ในวัด 25 แห่งใน 14 จังหวัดภาคใต้ นายไชยา กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสนับสนุนวัดทั่วประเทศกว่า 34,000 แห่ง จัดตั้งศูนย์สุขภาพประจำวัด เพื่อให้การดูแลสุขภาพพระภิกษุ สามเณรเป็นการเฉพาะ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการ โดยจัดทำเป็นโครงการ “ศูนย์สุขภาพสายสัมพันธ์วัด-โรงพยาบาล เฉลิมพระเกียรติ” เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2550 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ตามความสมัครใจ โดยจะสนับสนุนวิชาการอบรมถวายความรู้แก่พระสงฆ์และสามเณร เรื่องการดูแลสุขภาพเบื้องต้น การป้องกันโรคเรื้อรัง ที่สำคัญคือ โรคมะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และสนับสนุนเครื่องมือจำเป็น เช่น เครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องชั่งน้ำหนัก ยาสามัญประจำบ้าน รวมทั้งการดูแลความสะอาดสิ่งแวดล้อมในวัด ใช้งบประมาณโรงพยาบาลสงฆ์ ทั้งหมด 100 ล้านบาท ทั้งนี้ ผลการตรวจสุขภาพพระสงฆ์-สามเณร 1,122 รูป จาก 28 วัดในเขตกรุงเทพ โดยโรงพยาบาลสงฆ์ ล่าสุดในปี 2549 พบว่า ร้อยละ 18 หรือเกือบ 1 ใน 5 กำลังเจ็บป่วยเป็นโรคเรื้อรังต้องดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ปวดหลัง ข้อเข่าอักเสบ อีกร้อยละ 24-67 เสี่ยงเป็นโรคเนื่องจากมีระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดสูงผิดปกติ และยังพบร้อยละ 96 มีฟันผุ มีปัญหาทางสายตาร้อยละ 48 ปอดมีความผิดปกติร้อยละ 13 และข้อเข่าเสื่อมได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมไปแล้ว 61 ข้อ จึงต้องเร่งแก้ไขป้องกัน นายไชยากล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้จัดตั้งแล้ว 111 ศูนย์ มีพระผ่านการอบรม 450 รูป ในปีนี้จะเพิ่มอีก 25 แห่งในภาคใต้ 14 จังหวัด และได้เริ่มสนับสนุนเครื่องตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือดภาคสนามให้ศูนย์สุขภาพวัดฯ ในเขต กทม. 10 แห่ง หากได้ผลดีจะสนับสนุนให้ทุกแห่งต่อไป โดยให้สถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยง สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์จำเป็น ตรวจสุขภาพพระสงฆ์ สามเณร และประเมินสภาพแวดล้อมในวัดทุก 3–5 ปี “สาเหตุที่พระภิกษุเจ็บป่วยกันมาก ส่วนหนึ่งมาจากอาหารใส่บาตรทำบุญ ส่วนใหญ่นิยมเลือกสรรอาหารคาวหวานที่ปรุงสุดฝีมือ ตามความชอบของตัวเองและผู้ต้องการอุทิศส่วนกุศลไปให้ เช่น แกงกะทิ ขาหมู ขนมหวานต่างๆ ทำให้พระได้อาหารที่มีพลังงานสูงเกินความต้องการสะสมในร่างกายไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว และกิจสงฆ์ส่วนใหญ่จะเป็นการสวดมนต์ ออกกำลังกายน้อยอยู่แล้ว จึงมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคสูงกว่าคนทั่วไป จึงขอแนะนำให้เลือกอาหารที่มีประโยชน์ทำบุญใส่บาตร มีรสชาติพอดี ไม่เค็มจัด หวานจัด มันจัด เช่นแกงส้ม แกงเลียง แกงจืด น้ำพริกผักต้ม ผักสด และอาหารจำพวกปลาจะดีกว่า” นายไชยากล่าว ************** 16มิถุนายน 2551


   
   


View 13    16/06/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ