กระทรวงสาธารณสุข เร่งเดินหน้าตั้งคณะทำงานจัดทำกฎระเบียบต่าง ๆ ของหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน รองรับพ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉินที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 7 มีนาคมที่ผ่านมา และแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ กำหนดเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ หากระเบียบสมบูรณ์แบบจะไร้ปัญหาแย่งชิงผู้เจ็บป่วยของหน่วยกู้ชีพอาสา รวมทั้งโทรก่อกวนสาย 1669 ล่าสุดมีหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินขึ้นทะเบียนกับศูนย์นเรนทรแล้ว 6,330 หน่วย อาสาสมัครกู้ชีพ 81,818 คน ตั้งเป้าปี 2551 อบรมแพทย์ พยาบาล และอาสาสมัครอีกกว่า 2,000 คน นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หลังจากพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2551 เป็นต้นมา ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง โดยมีโทรศัพท์ 1669 รับแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือฟรี มีหน่วยบริการขึ้นทะเบียนรับรองมาตรฐานกับศูนย์นเรนทรแล้ว 6,330 หน่วย ครอบคลุมพื้นที่ถึงระดับตำบลทั่วประเทศ มีอาสาสมัครกู้ชีพทั้งภาครัฐ เอกชน และมูลนิธิต่าง ๆ ขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 81,818 คน แบ่งเป็นอาสาสมัครกู้ชีพหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้นประจำการตามหมู่บ้าน ตำบล อบรม 16 ชั่วโมง 59,729 คน อาสาสมัครกู้ชีพหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินระดับพื้นฐานอบรม 110 ชั่วโมง 4,833 คน เจ้าหน้าที่เวชกิจฉุกเฉินหลักสูตร 2 ปี 821 คน และพยาบาลกู้ชีพ 16,435 คน ประจำการในโรงพยาบาลทุกระดับ ในปี 2551 ตั้งเป้าอบรมแพทย์ให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน 535 คน พยาบาล 1,650 คน และอาสาสมัครอีก 1,000 คน สำหรับความคืบหน้าการออกกฎหมายลูกตามพ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 ขณะนี้ได้แต่งตั้งคณะทำงาน 1 ชุด จำนวน 10 คน เพื่อจัดทำร่างกฎระเบียบต่าง ๆ โครงสร้างองค์กร กำหนดหน้าที่และจำนวนบุคลากรในฝ่ายปฏิบัติการและฝ่ายยุทธศาสตร์ และเตรียมการรับสมัครเลขาธิการและผู้ปฏิบัติงาน โดยมีนายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการเลขาธิการการแพทย์ฉุกเฉินเป็นประธาน นายไชยากล่าวต่อว่า ในการสรรหาและคัดเลือกคณะกรรมการบอร์ดการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ที่กำหนดในกฎหมายจำนวน 17 คน แยกเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เลขาธิการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งอีก 11 คน ประกอบด้วย ตัวแทนจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 2 คน ตัวแทนจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชน อย่างละ 1 คน ตัวแทนจากแพทยสภา 2 คน และตัวแทนจากสภาการพยาบาล 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย การเงินการคลัง และอื่น ๆไม่เกิน 4 คน กำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2551 นี้ ทั้งนี้ หลังจากที่กฎระเบียบทั้งหมดสมบูรณ์แบบทั้งหมด ก็จะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายที่จะต้องเร่งจัดระเบียบเป็นการด่วนคือ การแย่งชิงผู้บาดเจ็บในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากขณะนี้มีอาสาสมัครกู้ชีพจำนวนมาก และสังกัดอยู่ในหลายหน่วยงาน ดังนั้น ระเบียบใหม่นี้ก็จะแบ่งขอบเขตการทำงานของทีมอาสาสมัครอย่างชัดเจน และมีบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม โดยเพิกถอนทะเบียนทันที และมีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท รวมทั้งบทลงโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาทสำหรับผู้ที่ก่อกวนหรือใช้หมายเลข 1669 ของศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการโดยไม่จำเป็น *********************************** 11 มิถุนายน 2551


   
   


View 8    11/06/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ