สธ.เผย “อหิวาต์” จ.ตาก ควบคุมได้แล้ว ไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม ออก 6 มาตรการเข้มป้องกันช่วงสังสรรค์ปีใหม่
- สำนักสารนิเทศ
- 536 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ผู้ตรวจราชการทุกเขตสุขภาพ สำรวจเตียง ยา เวชภัณฑ์ สำหรับผู้ป่วยโควิดรายงานส่วนกลางทุกวัน พร้อมขอสนับสนุนบุคลากรปฏิบัติงานในโรงพยาบาลบุษราคัมและ Cohort ICU กำชับเฝ้าระวังผู้เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง เร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเรื้อรังให้เสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้
วันนี้ (28 มิถุนายน 2564) ที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ประชุมทางไกลเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์โควิด 19 กับผู้ตรวจราชการ/สาธารณสุขนิเทศเขตสุขภาพที่ 1-13 ,นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด, ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป
นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวว่า ในภาวะวิกฤตเช่นนี้จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับผู้บริหารส่วนภูมิภาคให้มากขึ้น เช่น ปัญหาเรื่องยา เรื่องเตียงไม่พอ เกิดในบางพื้นที่ที่พบผู้ป่วยจำนวนมากไม่ใช่ภาพรวมทั้งหมดระบบสาธารณสุขไม่ได้ล่มสลาย ขอให้ทุกจังหวัดให้ความสำคัญกับการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด เน้นความสามัคคี ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่การนำมาตรการ Bubble and Seal, ยุทธการขนมครกไปใช้ขอให้ปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาหลายจังหวัดสามารถบริหารจัดการป้องกันควบคุมโรคของแต่ละพื้นที่ทำได้ดีมาก อย่างไรก็ตาม ขอให้ส่วนภูมิภาคช่วยแบ่งเบาภาระของพื้นที่ กทม. ซึ่งเป็นเมืองหลวง มีหน่วยงานราชการ การศึกษา ส่งออก ท่าเรือ แรงงานก่อสร้างจำนวนมาก ที่สำคัญทุกจังหวัดต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนว่าเรื่องเตียง ยา วัคซีนและทรัพยากรอื่นๆ ที่ใช้ดูแลผู้ป่วยโควิด รัฐบาลพร้อมจัดหาให้เพียงพอต่อการดูแลประชาชน
นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า หลังมีมาตรการ ศบค. ให้ปิดแคมป์ก่อสร้าง ทำให้มีผู้เดินทางกลับบ้านจึงจำเป็นต้องปรับการบริหารจัดการในการควบคุมป้องกันโรค ให้ผู้ตรวจราชการทุกเขตสุขภาพทำหน้าที่เหมือนปลัดกระทรวง เปิดอีโอซีทุกวัน และให้ดำเนินการใน 3 ด้าน คือ ด้านบุคลากร ขอกำลังสนับสนุนจากส่วนภูมิภาคมาช่วยดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงใน กทม. ซึ่งต้องใช้บุคลากรจำนวนมาก โดยขณะนี้โรงพยาบาลบุษราคัมเปิดแล้ว 2 พันเตียงดูแลผู้ป่วยอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง (สีเหลือง) จะเปิดเฟส 3 เพิ่มอีกพันกว่าเตียง ตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งเพิ่มเตียงสีแดง ในกทม. ที่มีเตียงของรัฐ 400 เตียง เอกชน 1,000 เตียง จะเปิด Cohort ICU ที่โรงพยาบาลสนาม มทบ.11 จำนวน 58 เตียงและเตียงสีเหลืองอีก 128 เตียง ในวันที่ 2 กรกฎาคม ได้รับการสนับสนุนกำลังคนจากเครือโรงพยาบาลธนบุรี รวมทั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รามาธิบดี วชิรพยาบาล 3 แห่ง รวมอีก 50 เตียง และโรงพยาบาลพลังแผ่นดินอีก 25 เตียง รวมสัปดาห์หน้าจะมีเตียงสีแดงเพิ่มอีก 133 เตียง พร้อมทั้งขอให้แพทย์เฉพาะทาง แพทย์จบใหม่ และพยาบาล มาช่วย 1 เดือน และให้สถาบันพระบรมราชชนกจัดอบรมเรื่องการดูแลผู้ป่วยในภาวะวิกฤต
ด้านที่ 2 ให้ผู้ตรวจราชการทุกเขตรายงานจำนวนเตียงทั้งสีเขียว เหลือง แดง โรงพยาบาลในเขตสุขภาพทั้งรัฐและเอกชน และสต๊อกยา เวชภัณฑ์ ชุด PPE. เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรภาพรวมทั้งเขตสุขภาพ และด้านที่ 3 การป้องกันควบคุมโรค ใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น Bubble and Seal ยุทธการขนมครก ส่ง อสม.ติดตาม สำรวจผู้เดินทางเข้ามาในหมู่บ้าน/ ชุมชน โดยเฉพาะผู้ที่มาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด และ 4.ให้เร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเรื้อรังให้เสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้
********************************** 28 มิถุนายน 2564
*********************