กระทรวงสาธารณสุข จับมือภาคเอกชน เตรียมพัฒนาเทคโนโลยีรองรับมาตรการ Home Isolation ให้ผู้ป่วยโควิดสีเขียวรักษาที่บ้าน อาทิ ระบบติดตามตัว ระบบข้อความแจ้งเตือน ระบบการรายงานผลออกซิเจนและอุณหภูมิ ส่งไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัด เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงทีและเร็วที่สุด

          วันนี้ (28 มิถุนายน 2564) ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนโรงพยาบาลศรีธัญญา จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด 19 โรงพยาบาลศรีธัญญาว่า สถานการณ์โควิด 19 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ยังมีการระบาด ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงอย่างต่อเนื่อง ในวันนี้จะมีการประชุมเครือข่ายกรมการแพทย์และโรงเรียนแพทย์ เพื่อแก้ไขและจัดลำดับความสำคัญ การดูแลผู้ป่วยหนักสีแดงที่มีอาการรุนแรง ให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและมีเตียงรองรับเพียงพอ ลดการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด โดยมีข้อเสนอการดูแลกักตัวที่บ้าน Home Isolation เน้นในผู้ป่วยโควิดสีเขียวที่ไม่มีอาการรักษาที่บ้าน เพื่อเข้าระบบ ให้มีเตียงดูแลผู้ป่วยอาการหนัก ได้มีการหารือกับภาคเอกชนพัฒนาเทคโนโลยี เช่น จัดทำระบบติดตามตัว ระบบข้อความแจ้งเตือน และระบบการรายงานผลออกซิเจนและอุณหภูมิ รายงานผลไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดหรือโรงพยาบาลที่ดูแล ให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงทีและเร็วที่สุด ป้องกันกรณีที่มีอาการหนักแต่ไม่ได้รับการดูแล รวมถึงเป็นการช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเดินหน้าพัฒนา

       “ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่หน้างานเห็นบุคลากรทางการแพทย์ทำงานกันอย่างหนักและเต็มกำลังความสามารถ หลายท่านมีความอ่อนล้า ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านเข้มแข็ง ตั้งใจทำประโยชน์เพื่อดูแลประชาชน เพื่อผ่านพ้นวิกฤตโควิดนี้ไปด้วยกัน” ดร.สาธิต กล่าว

       ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า สำหรับในวันนี้ได้ลงมาเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนโรงพยาบาลศรีธัญญา ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดฉีดภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ให้บริการในพื้นที่กทม. ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา สามารถรองรับประชาชนได้มากถึง 2,000 - 3,000 คนต่อวัน ให้บริการฉีดวัคซีนในกลุ่มบุคลากรด่านหน้า เช่น ทหาร ตำรวจ และบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น โดยจองคิวผ่านหน่วยงาน/องค์กร และลงทะเบียนออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชัน Queq ของโรงพยาบาล พบว่าที่นี่มีการจัดระบบอย่างเหมาะสม มีความคล่องตัว ประชาชนได้รับความสะดวก ทั้งสถานที่ การนัดหมายและการให้บริการ นอกจากนี้ ยังช่วยแบ่งเบาภาระงานจากศูนย์ฉีดวัคซีนสถาบันบำราศนราดูรได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม มีการเตรียมแผนรองรับนโยบายของรัฐบาลในการเร่งฉีดให้แก่ 2 กลุ่มเสี่ยง คือผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง เนื่องจากพบว่าสัดส่วนการเสียชีวิตพบมากกว่ากลุ่มอื่น หากมีวัคซีนเพียงพอ

 ************************************ 28 มิถุนายน 2564

 

******************



   
   


View 2006    28/06/2564   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ