กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศเตือนประชาชนให้ระมัดระวังโรคติดต่อที่มาพร้อมฝน ที่สำคัญ 14 โรค เช่น โรคท้องร่วง โรคฉี่หนู ปอดบวม ไข้เลือดออก เผยแค่เดือนพฤษภาคมเดือนเดียว ทั่วประเทศพบผู้ป่วยแล้ว 49,000 ราย เสียชีวิตแล้ว 19 ราย จากปอดบวม ไข้เลือดออก อุจจาระร่วงเฉียบพลัน และโรคฉี่หนู สั่ง สสจ.ทุกจังหวัด รพ.ทุกแห่ง จับตาโรคใกล้ชิด 90 วัน ตั้งแต่เดือนนี้ไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2551 พร้อมเตือนผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ไข้ฉี่หนู ห้ามกินแอสไพรินลดไข้อย่างเด็ดขาด เพราะเพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตง่ายขึ้น นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในฤดูกาลนี้ เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหลายชนิด สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว ที่สำคัญ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคฉี่หนู โรคไข้หวัดใหญ่ ไข้มาลาเรีย โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคบิด โรคไข้สมองอักเสบเจอี โรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง โรคปอดอักเสบ และโรคไข้หวัดนก ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โรงพยาบาลทุกแห่ง จับตาเป็นพิเศษ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2551 เป็นช่วง 90 วันอันตราย ให้แพทย์ตรวจคัดกรองผู้ป่วยโดยละเอียด โดยเฉพาะโรคไข้หวัดนก จะต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าไทยจะยังไม่พบผู้ป่วยมาเป็นเวลา 21 เดือนก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่กลายพันธุ์จากการผสมข้ามสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก โดยในหมู่บ้านได้ขอความร่วมมือ อสม. 800,000 คน ติดตามการป่วยของสัตว์ปีกในหมู่บ้าน ตามมาตรการที่มีอยู่แล้วอย่างต่อเนื่อง และรายงานผลทุกวัน ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรค ได้ออกประกาศเตือนประชาชนในการป้องกันโรคติดต่อที่มักเกิดขึ้นในฤดูฝน จัดส่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกัน โดยมี 5 กลุ่ม รวม 14 โรค ได้แก่ 1.กลุ่มโรคติดต่อของระบบทางเดินอาหาร ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคบิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ตับอักเสบ สาเหตุเกิดจากกินอาหารดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคหรือกินอาหารสุกๆ ดิบๆ 2.กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง ที่พบบ่อยคือ โรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคไข้ฉี่หนู อาการเด่นคือ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ มักปวดกล้ามเนื้อที่บริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง และตาแดง 3.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อย ได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม อาการจะเริ่มจากไข้ ไอ หายใจเร็วหรือหอบเหนื่อย 4.กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุง ได้แก่ โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งกว่าร้อยละ 80 เป็นยุงลายที่อยู่ในบ้าน โรคไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese Encephalitis) ซึ่งมียุงรำคาญ มักแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำตามทุ่งนาเป็นตัวนำโรค ทั้ง 2 โรคนี้อาการจะเริ่มจากมีไข้สูง ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้อาเจียน โดยโรคไข้สมองอักเสบนี้อาจทำให้พิการภายหลังได้ และ 5.โรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า จากการเฝ้าระวัง 14 โรคหน้าฝนดังกล่าวตลอดเดือนพฤษภาคม 2551 พบผู้ป่วยแล้ว 49,000 ราย ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 99 รักษาหาย มีเสียชีวิตเพียง 19 ราย โดยเสียชีวิตจากโรคปอดบวม 13 ราย โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 4 ราย และจากไข้เลือดออก โรคฉี่หนู อย่างละ 1 ราย สถานการณ์โรคโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ นอกจากนี้ ในช่วงหน้าฝนประชาชนยังต้องระวังอีก 2 เรื่อง คือ ปัญหาน้ำกัดเท้า ที่เกิดจากเชื้อรา สาเหตุเกิดจากการแช่น้ำสกปรกนานๆ ทำให้ผิวหนังเป็นผื่นแดง ถ้าเกาจะเป็นแผลมีน้ำเหลืองออก และอันตรายจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมลงป่อง อาจหนีน้ำมาหลบอาศัยในบริเวณบ้านได้ ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อาการนำเด่นๆ ของโรคติดเชื้อหลักๆ คือ อาการไข้ ดังนั้นในช่วงนี้ หากมีไข้สูงและเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน แนะนำว่าควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกกับโรค เพราะทั้ง 9 โรคที่เกิดขึ้นในฤดูฝนสามารถรักษาหายขาดได้ ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง นายแพทย์ธวัช กล่าวต่อว่า ยาลดไข้ที่ต้องระมัดระวังในการใช้ลดอาการไข้ คือยาจำพวกแอสไพริน ห้ามกินอย่างเด็ดขาด เพราะมีอันตรายกับบางโรค ที่สำคัญ 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้ฉี่หนู ซึ่งโรคดังกล่าวจะทำให้มีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกายอยู่แล้ว แต่หากได้รับยาแอสไพริน ซึ่งมีสารป้องกันเลือดแข็งตัวเข้าไป จะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น ทำให้เสียชีวิตได้ง่ายขึ้น ในการป้องกันโรคในฤดูฝน ขอให้ประชาชนสวมเสื้อผ้ารักษาร่างกายให้อบอุ่น เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรค โดยเฉพาะเด็กกับผู้สูงอายุควรดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นสูง หนาวเย็น จะทำให้ร่างกายที่มีระดับภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนวัยอื่นๆ อยู่แล้ว ต่ำลงไปอีก จึงมีโอกาสติดเชื้อโรคทางเดินหายใจได้ง่าย ควรดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้ม รับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม และล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ถ่ายอุจจาระลงส้วม หากในช่วงที่มีน้ำท่วมขัง และส้วมใช้การไม่ได้ ห้ามถ่ายอุจจาระลงน้ำ ขอให้ถ่ายอุจจาระลงในถุงพลาสติก แล้วปิดปากถุงให้แน่น ประชาชนควรตรวจดูโอ่งน้ำหรือภาชนะเก็บน้ำอื่นให้มีฝาปิดมิดชิด และเปลี่ยนน้ำจานรองขาตู้ แจกันไม้ประดับทุก 7 วัน ปล่อยปลาหางนกยูงในอ่างบัว ทำลายแหล่งที่มีน้ำขัง เช่น กะลา กระป๋อง ยางรถยนต์เก่า เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ทั้งนี้ หลังเดินย่ำน้ำ ลุยน้ำแช่ขังหรือน้ำสกปรก ต้องล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้ง แล้วเช็ดให้แห้งด้วยผ้าที่สะอาด อย่าปล่อยให้อับชื้นเป็นเวลานาน แนะนำให้ใช้เครื่องป้องกันให้เป็นนิสัย เช่น ใส่รองเท้าบู๊ท หลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นที่ชื้นแฉะที่มีการเลี้ยงสัตว์ และสัมผัสปัสสาวะสัตว์ นอกจากนี้ ให้ดูแลความสะอาดบ้านเรือน ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์มีพิษ หรือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน ***************************** 8 มิถุนายน 2551


   
   


View 14    08/06/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ