สธ.เผย “อหิวาต์” จ.ตาก ควบคุมได้แล้ว ไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม ออก 6 มาตรการเข้มป้องกันช่วงสังสรรค์ปีใหม่
- สำนักสารนิเทศ
- 535 View
- อ่านต่อ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับมอบหุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์ D-EMPIR CARE จากสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ สนับสนุนการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 แบบระยะไกลในโรงพยาบาลบุษราคัม ทั้งการสื่อสารผ่านระบบ VDO Call และช่วยลำเลียงสิ่งของ
บ่ายวันนี้ (15 มิถุนายน 2564) ที่โรงพยาบาลบุษราคัม อิมแพคชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รับมอบหุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์ (D-EMPIR CARE) จากพลเอก พอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) กระทรวงกลาโหม และพลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการ สทป. เพื่อสนับสนุนภารกิจทีมแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลบุษราคัม
นายอนุทินกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเปิดโรงพยาบาลบุษราคัมเพื่อดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 อาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม - 14 มิถุนายน 2564 รวม 1 เดือน มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแล้ว 2,325 ราย รักษาหายกลับบ้าน 1,367 ราย ส่งรักษาต่อ 110 ราย ยังอยู่ระหว่างการรักษา 848 ราย เหลือจำนวนเตียงว่าง 1,313 เตียง มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่เข้ามาดูแลผู้ติดเชื้อ เช่น คนไข้ใส่เครื่องช่วยหายใจด้วยตัวเอง ช่วยติดตามอาการได้แบบเรียลไทม์ ทำให้รักษาดูแลได้ทันหากอาการเปลี่ยน เป็นต้น โดยวันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้รับมอบหุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์ รุ่น D-EMPIR CARE จำนวน 3 ตัว สามารถควบคุมแบบไร้สายระยะไกล พัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลบุษราคัมในการดูแลสื่อสารกับผู้ป่วยผ่านระบบ VDO Call และลำเลียงสิ่งของ
ทั้งนี้ หุ่นยนต์ดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ส่วนควบคุมด้านบุคลากรทางการแพทย์ มีอุปกรณ์ได้แก่ จอและคอมพิวเตอร์พร้อมกล้อง Webcam, Joystick สำหรับควบคุมการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์, ไมโครโฟนสำหรับพูดคุยสื่อสาร และลำโพง และ 2.ส่วนหุ่นยนต์มีอุปกรณ์ ได้แก่ ตัวหุ่นยนต์แบบสายพาน, ถาด 3 ชั้นสำหรับใส่อาหาร ยา หรือสิ่งของ รับน้ำหนักได้ 20 กิโลกรัม , กล้อง Webcam ,ไมโครโฟน และจอ HDMI ขนาด 10 นิ้ว เชื่อมต่อได้ทั้ง 2 ระบบ คือ Wifi ระยะปฏิบัติการ 200-500 เมตร สามารถเพิ่มระยะได้โดยติดตั้งอุปกรณ์ขยายสัญญาณ Wifi Pepeater และระบบเครือข่ายมือถือ สามารถข้ามสิ่งกีดขวางบนพื้นราบได้ ปีนและไต่ทางลาดชันได้ไม่น้อยกว่า 35 องศา ใช้งานต่อเนื่องนาน 2 ชั่วโมง
“ขอขอบคุณสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ที่มอบหุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นการดัดแปลงมาจากหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดเพื่อมาใช้ในภารกิจด้านการแพทย์ ช่วยสนับสนุนให้การดำเนินการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ในโรงพยาบาลบุษราคัมมีความสะดวกและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น” นายอนุทินกล่าว
******************************* 15 มิถุนายน 2564
**************************************