กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และภาคีสุขภาพ เตรียมสุ่มสำรวจสุขภาพคนไทย 21 จังหวัดทั่วประเทศ กว่า 30,000 คน ในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อติดตามและวางแผนดูแลปัญหาสุขภาพ ใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท เผยการสำรวจที่ผ่านมาพบปัจจัยเสี่ยงโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า ความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท บ่ายวันนี้ (29 พฤษภาคม 2551) ที่กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังประชุม โครงการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 (National Health Examination Survey IV) ว่า การสำรวจสุขภาพคนไทยทั่วประเทศที่ผ่านมา 3 ครั้ง ในปี 2534, 2539 และ 2547 พบว่าปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โรคอ้วน เพิ่มจากร้อยละ 20 เป็น 25 และ 34 ตามลำดับ ส่วนโรคเบาหวาน เพิ่มจากร้อยละ 3.1 เป็น 8.1 และ 10.2 ส่วนการสำรวจครั้งล่าสุด พบโรคอ้วน 13 ล้านคน อ้วนลงพุง 12 ล้านคน เบาหวาน 3 ล้านคน ความดันโลหิตสูง 10 ล้านคน ไขมันในเลือดสูง 7 ล้านคน และพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพได้แก่ การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ในผู้สูงอายุมีเพิ่มขึ้นด้วย นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า โรคเรื้อรังเหล่านี้นอกจากทำให้ประเทศสูญเสียรายได้ จากการที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำงานได้ตามปกติและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรแล้ว ยังเป็นภาระด้านงบประมาณในการดูแลรักษาอย่างมาก โดยต่อปีไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดกว่า 1 แสนราย หรือร้อยละ 25 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจต่อปีเฉลี่ยคนละ 1 แสนบาท โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง คนละประมาณ 7,000-19,000 บาท โรคหลอดเลือดสมองคนละประมาณ 10,000-200,000 บาท คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สสส. และ สปสช. สำรวจสุขภาพคนไทยทั่วประเทศโดยการตรวจร่างกาย เพื่อศึกษาแนวโน้มปัญหาสุขภาพ และเป็นข้อมูลกำหนดนโยบายป้องกันและดูแลสุขภาพระดับประเทศ โดยจะเริ่มในเดือนกรกฎาคมนี้ ด้าน รศ.นายแพทย์วิชัย เอกพลากร ผู้อำนวยการสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สวรส. กล่าวว่า การสำรวจสุขภาพคนไทยครั้งนี้ ได้ประสานงานกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักทะเบียนราษฎร์ เพื่อสุ่มเลือกกลุ่มตัวอย่างคนไทยอายุ 1 ปีขึ้นไป ในกรุงเทพฯ และ 4 ภูมิภาคๆ ละ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ น่าน สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุทัยธานี ลพบุรี นครปฐม ปราจีนบุรี เพชรบุรี จันทบุรี เลย ขอนแก่น มุกดาหาร บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง นครศรีธรรมราช และสตูล รวม 21 จังหวัด จำนวน 31,700 คน โดยแบ่งเป็นวัยก่อนเรียน อายุ 1-5 ปี วัยเรียน อายุ 6-14 ปี วัยแรงงาน อายุ 15-59 ปี และวัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ใช้งบประมาณในการสำรวจประมาณ 50 ล้านบาท คาดว่าจะสำรวจเสร็จในเดือนตุลาคม 2551 หลังจากนั้นจะใช้เวลาวิเคราะห์ข้อมูลและประมวลผลอีกประมาณ 6 เดือน จึงจะได้ข้อสรุปเสนอผู้บริหารต่อไป สำหรับประเด็นสุขภาพที่ทำการสำรวจในกลุ่มเด็ก ได้แก่ พัฒนาการทางสมอง ทางอารมณ์ พฤติกรรมการกินอาหาร การออกกำลังกาย การตรวจสารไอโอดีนในปัสสาวะ รวมทั้งการใช้เวลาว่าง การพักผ่อน ส่วนผู้ใหญ่ จะสำรวจพฤติกรรมการกินอาหาร การออกกำลังกาย และตรวจร่างกาย ได้แก่ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง รอบเอว ความดันโลหิต ตรวจเลือดดูภาวะซีด ระดับน้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด การทำงานของไต ตรวจปัสสาวะ ทดสอบภาวะสมอง ตรวจสมรรถภาพปอด รวมทั้งสำรวจภาวะเจริญพันธุ์ในวัยแรงงาน และตรวจความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขน ภาวะสมองเสื่อม และภาวการพึ่งพาในวัยสูงอายุด้วย พฤษภาคม ******************************** 29 พฤษภาคม 2551


   
   


View 8    29/05/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ