ปลัด สธ. สั่งตั้งศูนย์ EOC รับมือ "อหิวาต์" พร้อมให้การสนับสนุนทีมช่วย "เมียนมา" ควบคุมป้องกันโรค เข้มเฝ้าระวังจุดเสี่ยงในไทย
- สำนักสารนิเทศ
- 165 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันระบบ “หมอพร้อม” ทำงานได้ตามปกติ วันนี้จนถึงเวลา 14.30 น. มีผู้จองรับวัคซีนแล้ว 199,194 ราย ย้ำรอบนี้ สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง นัดหมายรับการฉีดได้ในโรงพยาบาล 1,200 แห่ง วัคซีนมีเพียงพอ ลงทะเบียนได้ตลอดเดือนพฤษภาคม ไม่ต้องรีบ เริ่มฉีด 7 มิถุนายน – กรกฎาคม และเปิดหมอพร้อม ไลน์โอเอ เวอร์ชัน 2.1 ประชาชนที่ตกหล่นสามารถลงชื่อได้ หรือแจ้งอสม./ โรงพยาบาลใกล้บ้าน
บ่ายวันนี้ (1 พฤษภาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์พงศธร พอกเพิ่มดี นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านสาธารณสุข) ที่ปรึกษาระดับกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง แถลงว่า วันนี้ “หมอพร้อม” ระบบทำงานได้ตามปกติ จนถึงเวลา 14.30 น. มีผู้จองรับวัคซีนแล้ว 199,194 ราย แบ่งเป็นทางไลน์ 157,066 ราย และแอปพลิเคชัน 42,128 ราย ซึ่งการลงทะเบียนสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 3 องค์ประกอบ คือ 1. หมอพร้อม ไลน์และแอปพลิเคชัน 2.ไวท์ลิสต์ หรือรายชื่อที่โรงพยาบาลที่รับการรักษาส่งมาเข้าระบบ และ3.โรงพยาบาลปลายทางที่ต้องการไปฉีดวัคซีนต้องเปิดระบบการนัดฉีดแต่ละวัน (Slot) โดยช่วงเช้าในกทม.ล่าช้า เนื่องจากโรงพยาบาลที่เปิดระบบมีเพียง 24 แห่ง
ได้ประสานกทม. ขณะนี้เปิดแล้ว 134 แห่งจาก 160 แห่ง ส่วนโรงพยาบาลสนามยังไม่เปิดระบบ เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง จึงควรฉีดในโรงพยาบาล ส่วนโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข เปิดระบบทุกโรงพยาบาลแล้ว โดยโรงพยาบาลขนาดเล็กเปิดรับจอง 360 คนต่อวัน โรงพยาบาลขนาดใหญ่ 600 คนต่อวัน คิดจากเวลาฉีด 1 คนต่อ 1 นาที สามารถฉีด 16 ล้านคน 16 ล้านโดสได้ภายในเวลา 54 วัน ซึ่งลงทะเบียนรับการฉีดจะทำให้สามารถส่งวัคซีนไปยังโรงพยาบาลได้ตามจำนวนที่จะต้องฉีด
นายแพทย์พงศธรกล่าวต่อว่า รายชื่อในไวท์ลิสต์ โรงพยาบาลได้นำเข้าสู่ระบบตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน ขณะนี้ต่างจังหวัดทำได้ประมาณ 95 - 98 เปอร์เซ็นต์ อาจตกหล่นรายชื่อประมาณ 1 ล้านคน จึงทำให้ไม่พบรายชื่อเมื่อจองคิว เนื่องจากมีโรงพยาบาล 1,200 แห่ง ได้แก้ปัญหาโดยเปิด หมอพร้อม ไลน์โอเอ เวอร์ชัน 2.1 เพื่อให้ประชาชนที่ตกหล่นสามารถลงชื่อได้เลย หรือแจ้งโรงพยาบาลที่มีประวัติการรักษา หรือหน่วยบริการที่ท่านมีสิทธิรักษาพยาบาล เพื่อนำรายชื่อเข้าระบบหมอพร้อม สำหรับกรณีที่รับการรักษา 2 โรงพยาบาลในกรุงเทพและต่างจังหวัด รายชื่อควรขึ้นทั้ง 2 โรงพยาบาล แต่เนื่องจากโรงพยาบาลในกรุงเทพยังไม่เปิดระบบนัดฉีด ทำให้มีรายชื่อขึ้นที่โรงพยาบาลต่างจังหวัด
สำหรับกลุ่มเป้าหมายการฉีดวัคซีน ได้เรียงลำดับความสำคัญแบ่งเป็น 5 กลุ่ม รวม 50 ล้านคน กลุ่มแรกคือ บุคลากรสาธารณสุข จำนวน 1.2 ล้านคน 2.บุคลากรด่านหน้า ทหาร ตำรวจ ประมาณ 1.8 ล้านคน 3. ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังอายุน้อยกว่า 60 ปี ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และเบาหวาน รวม 4.3 ล้านคน 4.ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 11.7 ล้านคน และ5.ประชาชนที่เหลืออีก 31 ล้านคน โดยจะมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามาฉีดในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม จำนวน 16 ล้านโดส สำหรับ 16 ล้านคน และจากการสำรวจโพลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่ามีผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนเพียง 60 – 70 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นจึงมีวัคซีนเพียงพอแน่นอน ไม่ต้องรีบลงทะเบียน ยังมีเวลาให้ลงทะเบียนตั้งแต่ 1 พ.ค. เป็นต้นไป และเริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน – กรกฎาคม ส่วนประชาชนทั่วไปเปิดให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2564 และเริ่มรับการฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564 ซึ่งจะมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เดือนละ 10 ล้านโดส ซึ่งวัคซีนเป็นวัคซีนที่ผลิตในประเทศโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ได้รับคำชมเชยจากบริษัทแม่ที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ว่ามีคุณภาพสูงมาก รวมทั้งจะมีวัคซีนอื่นๆ อีกหลายล้านโดสที่จะทยอยเข้ามา
“หลังจากรับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ ร่างกายจะได้รับการกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ย้ำว่า การฉีดวัคซีนช่วยให้ตัวเราแข็งแรง มีภูมิต้านทานขึ้น หากติดเชื้อ ไม่ต้องนอนไอซียู ไม่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ขณะเดียวกันมีการศึกษาในต่างประเทศระบุว่าช่วยลดการแพร่เชื้อได้ เพราะจำนวนเชื้อในจมูกจะลดลง ช่วยลดการแพร่เชื้อต่อไปยังชุมชนด้วย ช่วยทั้งตัวเรา ปกป้องครอบครัว ในที่สุดจะทำให้มีภูมิคุ้มกันหมู่ สามารถเปิดประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไปได้” นายแพทย์พงศธรกล่าว
***************************** 1 พฤษภาคม 2564
********************************************