ศ.นพ.ยง ชี้วัคซีนที่นำมาฉีดในประเทศไทย ทั้งซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิภาพดีป้องกันการป่วยที่มีอาการมากและป้องกันการเสียชีวิตได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต่างจากวัคซีนอื่น ๆ  และป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษได้ ขอให้ประชาชนมั่นใจ ส่วนกรณีความกังวลการติดเชื้อที่ทำงาน ไม่จำเป็นต้องตรวจเชื้อทุกคน  คนที่สัมผัสใกล้ชิด กินข้าวร่วมกัน ถือว่าเสี่ยงสูงควรตรวจ ส่วนผู้ร่วมงานอื่น ๆ เสี่ยงต่ำ แยกตัวสังเกตอาการ 14 วัน สวมหน้ากาก 100 เปอร์เซ็นต์ ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่าง

         วันนี้ (11 เมษายน 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 ว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ที่นำมาฉีดในประเทศไทย ทั้งของซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิภาพดีมากในการลดความรุนแรงของโรค ช่วยป้องกันการป่วยที่มีอาการมาก และป้องกันการเสียชีวิตได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต่างจากวัคซีนของโมเดอร์นา ไฟเซอร์ และอื่น ๆ ส่วนการป้องกันอาการน้อยถึงปานกลาง วัคซีนซิโนแวคป้องกันได้ 78 เปอร์เซ็นต์ แอสตร้าเซนเนก้าได้ 76 เปอร์เซนต์ ขอให้มั่นใจในประสิทธิภาพวัคซีนที่นำมาใช้ในประเทศไทย

          สำหรับคำถามว่าฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้หรือไม่นั้น ไวรัสกลายพันธุ์ที่พบขณะนี้เป็นสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 เป็นอาร์เอ็นเอไวรัส มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งส่วนที่จับพื้นผิวเซลล์ ทำให้เกาะติดเซลล์ได้แน่น เพิ่มจำนวนง่าย ปริมาณไวรัสมาก กระจายโรคเร็ว ส่วนความรุนแรงไม่ต่างจากสายพันธุ์เดิมที่เคยพบในไทย ดังนั้นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนอื่น ๆ มีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่แตกต่างจากสายพันธุ์เดิม ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาใต้และบราซิล วัคซีนอาจมีประสิทธิภาพลดลงบ้าง แต่ยังป้องกันความรุนแรงของโรคได้ สิ่งสำคัญคือ ทุกคนต้องช่วยกันป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์หลุดเข้าไทย แม้ตลอดเวลาที่ผ่านมาไทยจะกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศ ทำอย่างเต็มที่ ก็ยังพบสายพันธุ์อังกฤษเข้ามาและเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในไทยต่อจากนี้ ขอให้การ์ดอย่าตก   เข้มมาตรการป้องกันตนเองต่อไป

          ศ.นพ.ยงกล่าวต่อว่า การจะฉีดให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประชากรโลกที่มี 7 พันล้านคน ต้องฉีดให้ได้ 1 หมื่นล้านโดส หรือไม่น้อยกว่า 5 พันล้านคน ขณะนี้ทั่วโลกฉีดแล้วมากกว่า 700 ล้านโดส เฉลี่ย 15 ล้านโดสต่อวัน ต้องใช้เวลา 2 ปี จึงจะครบเป้าหมาย ต้องเร่งฉีด 30 ล้านโดสต่อวัน จึงจะบรรลุเป้าหมายใน 1 ปี ประเทศที่ฉีดวัคซีนได้มากคือ อเมริกา จีน โดยประเทศที่ฉีดครอบคลุมมากสุดคือ อิสราเอล ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ทำให้ผู้ติดเชื้อที่เคยสูงสุด 6 พันรายต่อสัปดาห์ เหลือหลักร้อยรายต่อสัปดาห์ อัตราเสียชีวิตเหลือหลักสิบรายต่อสัปดาห์ แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการฉีดวัคซีนในประชาชนหมู่มาก ส่วนการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ประเทศอังกฤษ ที่ระดมฉีดประชาชนจำนวนมาก การป่วยและเสียชีวิตลดลงอย่างมาก ขณะที่ฝรั่งเศส เยอรมนี ที่หยุดฉีดบางช่วงเนื่องจากกังวลเรื่องผลข้างเคียงวัคซีน เกิดการระบาดระลอก 3

          ขณะนี้ ประชาชนบางส่วนอยู่ในภาวะตระหนก ขอให้ตรวจสอบว่าตัวเองเสี่ยงสูงหรือต่ำ ซึ่งระลอกแรกเห็นชัดว่า ผู้เสี่ยงสูงคือคนในครอบครัว จะต้องไปตรวจหาเชื้อ ส่วนการสัมผัสในที่ทำงาน จากการศึกษาพบว่ามีโอกาสติดในที่ทำงานน้อยมาก จะติดในผู้สัมผัสใกล้ชิด เช่น กินข้าวด้วยกัน พูดคุยสนทนากัน สัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย ถือว่าเสี่ยงสูง ควรไปตรวจหาเชื้อ ส่วนผู้ร่วมงานคนอื่น ๆ  อาจเสี่ยงบ้าง ขอให้สังเกตอาการ เคร่งครัดการปฏิบัติตน ใส่หน้ากาก 100% ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง เป็นเวลา 14 วัน สำหรับอาการผื่นขึ้นนั้น พบได้จากหลายสาเหตุ หากเป็นโควิด 19 จะต้องมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น เจ็บคอ ไข้ ไอ อาการระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นอาการหลัก                                                                                                 

          ศ.นพ.ยงกล่าวต่อว่า ส่วนข้อสงสัยวัคซีนโควิด 19 ในภาวะฉุกเฉินที่ใช้ขณะนี้ เป็นวัคซีนที่ไม่สามารถรอการพัฒนาแล้วขึ้นทะเบียนในภาวะปกติ ซึ่งต้องใช้เวลา 3- 5 ปี เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยของวัคซีน ดังนั้นเมื่อไม่สามารถรอได้ จึงต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้จากวัคซีนกับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากวัคซีน หากมีประโยชน์มากกว่า จึงขออนุมัติในภาวะฉุกเฉิน และมีการศึกษาติดตามเรื่องความปลอดภัยวัคซีนอย่างต่อเนื่อง เมื่อมั่นใจแล้วจึงจะขออนุญาตอนุมัติการใช้ในภาวะปกติ ซึ่งต่างจากวัคซีนที่อนุมติใช้ในภาวะปกติ เช่น วัคซีนใหม่ในเด็กพบอาการข้างเคียงน้อยมากหรือแทบไม่มีไข้เลย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่วัคซีนโควิด 19 ไม่ว่าแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค ฉีดแล้วอาจจะมีอาการข้างเคียงบ้าง เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ เมื่อยเนื้อตัว ต้องยอมรับ เมื่อเป็นการพัฒนาในภาวะฉุกเฉิน บริษัทผู้ผลิตแจ้งแล้วว่าหากเกิดอะไรในภาวะฉุกเฉิน ฝ่ายอนุญาต(รัฐบาล) จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และต้องรอไปอีกสักระยะหนึ่งวัคซีนโควิดนี้ถึงจะอนุมัติให้ใช้ในภาวะปกติได้

********************************** 11 เมษายน 2564

 

 



   
   


View 4023    11/04/2564   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ