กระทรวงสาธารณสุขยันบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 ตามแผน กระจายวัคซีนครบ 13 จังหวัดเป้าหมาย เผย 2 วันฉีดวัคซีนแล้ว 3,021 ราย ส่วนการฉีดวัคซีนโควิดวันแรก จ.เชียงใหม่ 140 คน เป็นบุคลากรการแพทย์ 73 คน และเจ้าหน้าที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 63 คน เช่น ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ ชี้เป็นกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่วีไอพี

          วันนี้ (2 มีนาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวแผนการกระจายวัคซีนโควิด 19 ว่า การฉีดวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทยมีเป้าหมาย เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต เพื่อปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ และเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ในระยะแรกที่วัคซีนมีจำกัด2 ล้านโดสของบริษัทซิโนแวค จึงฉีดในกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย เช่น ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ อสม. เป็นต้น และประชาชนที่มีโรคประจำตัว ส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ยังต้องระงับการฉีดวัคซีนของซิโนแวคไว้ก่อน เนื่องจากมีผลการศึกษาวิจัยในกลุ่มอายุดังกล่าวน้อย

          สำหรับวัคซีนล็อตแรก 2 แสนโดส ได้กระจาย 13 จังหวัดเป้าหมายแล้ว รวม 116,520 โดส ผลการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2564 จำนวน 3,021 ราย แบ่งเป็น บุคลากรทางการแพทย์และ อสม. 2,781 ราย , เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 133 ราย , ประชาชนที่มีโรคประจำตัว 21 ราย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 86 ราย รายงานล่าสุดยังไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง แต่พบอาการไม่พึงประสงค์ 5 ราย ได้แก่ บวมแดงบริเวณที่ฉีด 4 ราย และคลื่นไส้อาเจียน 1 ราย  ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัคซีน ขณะนี้อาการเป็นปกติดี

          "ขณะนี้การกระจายวัคซีนเป็นไปตามแผน จังหวัดที่ได้รับวัคซีน มีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณากลุ่มเป้าหมายและจำนวนผู้ที่จะได้รับวัคซีน มีการนัดหมายมารับวัคซีนตามรายชื่อที่สถานพยาบาล ยังไม่มีระบบการจองวัคซีน หลังฉีดมีระบบติดตามอาการในวันที่ 1 , 7 และ 30 และนัดหมายฉีดเข็มที่ 2 ผ่านไลน์หมอพร้อม อย่างไรก็ตาม ช่วงเริ่มต้นถือเป็นการทดสอบระบบ ที่ยังไม่สมบูรณ์ จะได้มีการปรับปรุงเพื่อให้รองรับการฉีดวัคซีนปริมาณมากในอนาคตต่อไป" นายแพทย์โอภาสกล่าว

          นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีการฉีดวัคซีนของ จ.เชียงใหม่ ที่สงสัยว่าฉีดให้กลุ่มวีไอพีนั้น เบื้องต้นได้รับรายงานว่า คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนดกลุ่มเป้าหมายรับวัคซีน 1,450 คน ระบุรายชื่อและนัดหมายมาฉีด โดยวันแรกฉีดวัคซีนแล้ว 140 คน ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 73 คน และเจ้าหน้าที่อื่นๆ 67 คน ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย เช่น หัวหน้าส่วนราชการ ฝ่ายปกครอง ทหาร และตำรวจ ไม่ใช่วีไอพี แต่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีชื่อตามที่กำหนด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และคณะฯ จะชี้แจงรายละเอียดต่อไป ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และมีผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมควบคุมโรคเป็นกรรมการ เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นตามระบบวิชาการทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงทางระบาดวิทยา ไม่มีการปกปิดข้อมูล

          นายแพทย์โอภาสกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ไม่มีการปิดกั้นภาคเอกชนนำเข้าวัคซีนโควิด 19 โดยต้องเป็นผู้รับอนุญาตนำเข้าและมาขึ้นทะเบียนวัคซีนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อรับอนุญาตการใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะนี้มีผู้มายื่นขอขึ้นทะเบียน 4 ราย ได้แก่ 1.บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด นำเข้าวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า 2.องค์การเภสัชกรรม นำวัคซีนของซิโนแวค  3.บริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด นำวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และ 4.บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด นำวัคซีนของบารัค ไบโอเทค โดยวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวคได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว และอย.ได้เปิดช่องทางพิเศษอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการขึ้นทะเบียนในสภาวะจำเป็นเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคอย่างรวดเร็ว

********************************  2 มีนาคม 2564

 



   
   


View 1472    02/03/2564   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ