แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อยันวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ที่ไทยใช้ทั้ง 2 ชนิดมีความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ขอประชาชนมั่นใจ การฉีดวัคซีนเป็นก้าวสำคัญในการควบคุมโรคโควิดของไทย เผยทั่วโลกฉีดแล้วกว่า 236 ล้านโดส ยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากวัคซีน มีระบบติดตามอาการหลังฉีด ย้ำแม้ฉีดแล้วยังต้องเข้มป้องกันโรค จนกว่าจะฉีดได้ครอบคลุมประชากรเพียงพอ

          วันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวความปลอดภัยของวัคซีนโควิด 19 ว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนโควิด 19 เข้ามา 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนเชื้อตายของซิโนแวค และวัคซีนไวรัสเวคเตอร์ของแอสตร้าเซนเนกา ซึ่งทั้ง 2 ตัวมีความปลอดภัยสูง ผู้ที่มีโรคประจำตัวสามารถฉีดวัคซีนได้ แต่ถ้ายังควบคุมโรคประจำตัวได้ไม่คงที่ให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนฉีด ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ก็มีความปลอดภัย เพียงแต่การศึกษาของซิโนแวคในคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมีน้อย ต้องรอข้อมูลเพิ่ม และในช่วงต้นวัคซีนยังมีจำกัด  จึงขอให้ใช้วัคซีนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด คือ ต่ำกว่า 60 ปีใช้ของซิโนแวค และมากกว่า 60 ปีให้ใช้ของแอสตราเซนเนกา

          ศ.พญ.กุลกัญญากล่าวต่อว่า วัคซีนทั้ง 2 ชนิดยังมีประสิทธิภาพป้องกันเกิดโรคแบบรุนแรงได้ 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม หลายคนหวังว่าฉีดวัคซีนแล้วจะเลิกใส่หน้ากาก ขอย้ำว่าวัคซีนช่วยให้ป้องกันป่วยด้วยโรคโควิด 19 อย่างรุนแรงได้ดีมาก แต่ยังอาจป่วยเล็กน้อยได้ถ้าได้รับเชื้อ และป้องกันการแพร่เชื้อได้อย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ จึงยังมีโอกาสที่เชื้อจะยังคงมีการระบาดได้อยู่ การจะกลับมาใช้ชีวิตปกติเหมือนเดิมได้ต้องรอให้มีการฉีดวัคซีนมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเสียก่อน  ส่วนตอนนี้แม้ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังต้องสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง

          สำหรับทั่วโลกมีรายงานการฉีดวัคซีนโควิดแล้ว 236 ล้านโดส ประเทศไทยไม่ได้ฉีดช้าและเร็วเกินไป ทำให้เห็นความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ในหลายประเทศที่ฉีดวัคซีนแล้วเห็นผลว่ามีอัตราการติดเชื้อ การนอนรักษาในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตลดลง ส่วนอาการข้างเคียงรุนแรงหรืออาการแพ้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยกว่า 1 ในล้านโดส เพราะวัคซีนของแอสตร้าเซนเนกาและซิโนแวคมีอัตราการแพ้รุนแรงต่ำมาก ต่ำกว่าชนิด mRNA 5-10 เท่า ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผู้ใดเสียชีวิตจากวัคซีน เนื่องจากฉีดในสถานที่ที่มีบุคลากรทางการแพทย์ และมีการเฝ้าระวังสังเกตอาการ หากมีอาการแพ้ก็ดูแลได้ทันท่วงที ส่วนอาการที่พบบ่อยหลังฉีดวัคซีนในช่วง 24 ชั่วโมงแรก คือ ปวดเมื่อยบริเวณที่ฉีด ครั่นเนื้อครั่นตัว คล้ายเป็นไข้  แต่เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกวัคซีน

          “การฉีดวัคซีนโควิด 19 ของไทย มีระบบเฝ้าระวังผ่าน Line Official Account “หมอพร้อม” ในการติดตามอาการภายหลังการฉีด ส่วนผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนก็มีระบบรายงานโดยตรงผ่านเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือ อสม. โดยขอให้บันทึกอาการ ไม่ว่ามากหรือน้อย ตั้งแต่วันแรกที่ฉีด วันที่ 7 และวันที่ 30 หลังการฉีด หากมีอาการหลังฉีดวัคซีน โดยเฉพาะในช่วง 7 วันแรก ถ้าไม่มั่นใจขอให้ปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้ ยังมีระบบติดตามสถานการณ์โรคในโรงพยาบาลที่มีบริการฉีดวัคซีนว่า มีโรคอะไรที่อาจเกี่ยวเนื่องจากโรคโควิด 19 หรือภาวะใดๆ ที่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนหรือไม่ เพื่อนำผลมาประมวลด้วย  ดังนั้น ผู้ที่ยังลังเลไม่มั่นใจในวัคซีน ตอนนี้ขอให้มั่นใจได้แล้ว การฉีดวัคซีนจะเป็นก้าวสำคัญในการควบคุมโรคโควิด 19 ของประเทศไทย” ศ.พญ.กุลกัญญากล่าว    

         ศ.พญ.กุลกัญญากล่าวว่า สำหรับการฉีดเข็มที่สอง มีระบบช่วยเตือนผ่าน Line Official Account “หมอพร้อม” และ อสม.ให้กลับมารับวัคซีน แต่วัคซีนที่ไทยใช้มี 2 เทคโนโลยีการผลิต ทำให้การฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันมีความแตกต่างกัน โดยของซิโนแวค จะฉีดห่างกันประมาณ 2-4 สัปดาห์ ในพื้นที่ระบาดควรฉีดกระชับให้เร็วขึ้น พื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อน้อยควรทิ้งห่างกว่า จะกระตุ้นภูมิได้ดีขึ้น ส่วนของแอสตร้าเซนเนกาแนะนำให้ฉีดห่างกัน 10-12 สัปดาห์ ประสิทธิภาพในการป้องกันจะเกิดขึ้นหลังฉีดหลังฉีดเข็มแรก 14 วัน แต่อาจยังไม่เต็มที่ ต้องกระตุ้นเข็มที่ 2 ถึงมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่

  *******************************  28 กุมภาพันธ์ 2564

*********************************

 



   
   


View 1685    28/02/2564   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ