ปลัด สธ. สั่งตั้งศูนย์ EOC รับมือ "อหิวาต์" พร้อมให้การสนับสนุนทีมช่วย "เมียนมา" ควบคุมป้องกันโรค เข้มเฝ้าระวังจุดเสี่ยงในไทย
- สำนักสารนิเทศ
- 206 View
- อ่านต่อ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมการฉีดวัคซีนโควิด 19 วันแรกของประเทศไทย ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า อสม.และคณะรัฐมนตรี โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้ารับการฉีดเป็นเข็มแรกของประเทศไทย สร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยแก่ประชาชน
วันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2564) ที่สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมการจัดบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 แก่กลุ่มเป้าหมาย อาทิ คณะรัฐมนตรี นำโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นำโดยนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ด่านของสถาบันบำราศนราดูร และตัวแทน อสม. จำนวนรวม 200 คน
โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด19 เข็มแรกของไทย และดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้หญิงคนแรกของไทย ได้รับเกียรติ รับการฉีดวัคซีนจาก ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ฯ ทั้งนี้ ภายหลังเยี่ยมชม นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณและให้กำลังใจ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ ที่พยายามแก้ไขสถานการณ์โควิด 19 จนทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพด้านการแพทย์และสาธารณสุขเป็นอันดับต้นของโลก
นายอนุทินกล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกที่เริ่มฉีดวัคซีนโรคโควิด 19 ของประเทศไทย เพื่อฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายอายุตั้งแต่ 18-59 ปี อาทิ บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า เจ้าหน้าที่ที่ดูแลหรือต้องสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน โรคอ้วน ซึ่งสถาบันบำราศนราดูร เป็นต้นแบบในการวางระบบการจัดบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้กับโรงพยาบาลอื่นๆ โดยมี 8 ขั้นตอน ใช้เวลาฉีดและเฝ้าระวังสังเกตอาการประมาณ 37 นาที รวมถึงมีระบบในการแจ้งเตือนในการมารับวัคซีนเข็มที่สอง ฉีดห่างกัน 21 วัน
“ครั้งนี้ถือว่าเป็นการซ้อมระบบ ให้พร้อมฉีดให้ประชาชนเมื่อวัคซีนล็อตใหญ่มาถึง ซึ่งจะฉีดทั่วประเทศเดือนแรก 5 ล้านโดส และ 10 ล้านโดสในเดือนต่อๆ ไป จนครบ 63 ล้านโดส ภายในปี 2564 และจะพยายามหาวัคซีนโควิดจากแหล่งอื่นๆ มาเพิ่มสำรองไว้ และฉีดให้คนในประเทศ ห้ครอบคลุมมากที่สุด” นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวต่อว่า สำหรับการฉีดวัคซีนให้กับนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการด้านการแพทย์ให้ความเห็นว่า อยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่สมควรได้รับวัคซีนเนื่องจากมีอายุมากกว่า 60 ปี มีความเสี่ยงจากการพบปะประชาชนจำนวนมาก โดยวัคซีนที่เหมาะสมคือวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า ที่สามารถฉีดให้กับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปได้ และผ่านการทดสอบในกลุ่มผู้สูงอายุจำนวนมากแล้ว อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนจะต้องอยู่ภายใต้ดุลพินิจของแพทย์ในการสั่งฉีดและความสมัครใจของท่านนายกรัฐมนตรี ขณะนี้วัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าอยู่ระหว่างการดำเนินการให้ถูกต้องตามกระบวนการ คาดว่าจะนำมาฉีดได้กลางเดือนมีนาคมนี้
ด้านดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้เป็นต้นไปจะเริ่มฉีดวัคซีนใน 13 จังหวัดแรก ขอให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่ได้ลงทะเบียนไว้มารับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยลดความรุนแรงของโรค และเมื่อฉีดได้ครอบคลุมจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ โรคโควิด 19 จะหายไป เศรษฐกิจของประเทศจะเดินหน้าต่อไปได้ สำหรับความมั่นใจวัคซีน ยืนยันว่ามีความปลอดภัยสูง ขอให้อย่าหลงเชื่อข้อมูลที่ส่งต่อทางสื่อโซเชียลมีเดีย ให้ติดตามข้อมูลงานวิจัยจากหน่วยงานวิชาการที่เชื่อถือได้เป็นหลัก ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนในระยะแรกนี้ เป็นกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในเกณฑ์ที่จังหวัดและโรงพยาบาลติดตามให้มารับการฉีด ยังไม่ได้เปิดให้จองลงทะเบียน และไม่สามารถ walk-in มารับบริการได้
ด้านนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจรับวัคซีนโรคโควิด 19 จำนวน 200,000 โดสจากซิโนแวค เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นวัคซีนเชื้อตาย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันโรค จากการศึกษาในคนระยะที่ 1, 2 และ 3 ในประเทศบราซิล ตุรกี อินโดนีเซีย และชิลีแล้ว มีการรายงานผลว่า วัคซีนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด 19 ได้รับการรับรองและให้ใช้ในประเทศจีนเรียบร้อยแล้ว มีแผนการกระจายวัคซีนไปยังพื้นที่เป้าหมาย 13 จังหวัดแรก โดยวานนี้ (27 กุมภาพันธ์2564) ส่งไปแล้วที่ จ.สมุทรสาคร นนทบุรี ชลบุรี ปทุมธานี ส่วนในวันนี้จัดส่งเพิ่มอีก 7 จังหวัดที่เหลือ และในวันที่ 1 มีนาคม 2564 จะจัดส่งที่ จ.ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี (อ.เกาะสมุย)
“วัคซีนของซิโนแวคยังไม่มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง อาการที่อาจพบได้ อาทิ เจ็บบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นต้น ซึ่งอาการดังกล่าวมักจะหายได้เองภายใน 2-3 วัน ส่วนอาการแพ้ที่สังเกตได้ คือ ผื่นแดง คันตามร่างกาย หายใจไม่สะดวก คลื่นไส้อาเจียน หน้ามืด แน่นหน้าอก เป็นต้น โดยวัคซีนทั่วไปมักพบอาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างสังเกตอาการประมาณ 15 นาที หากพบผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์จะมีแพทย์ดูแล ปฐมพยาบาล รวมถึงส่งต่อรักษาอาการดังกล่าวตลอดช่วงเวลาที่ให้บริการฉีดตามมาตรฐานสากล และมี Line Official “หมอพร้อม” ติดตามอาการภายหลังการฉีดวัคซีน 1, 7, 30 วัน แจ้งเตือนรับวัคซีนเข็มที่ 2 และรับใบยืนยันการฉีดวัคซีนเมื่อฉีดครบ” นพ.เกียรติภูมิกล่าว
******************************* 28 กุมภาพันธ์ 2564