ปลัด สธ. สั่งตั้งศูนย์ EOC รับมือ "อหิวาต์" พร้อมให้การสนับสนุนทีมช่วย "เมียนมา" ควบคุมป้องกันโรค เข้มเฝ้าระวังจุดเสี่ยงในไทย
- สำนักสารนิเทศ
- 213 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เลือกวัคซีนโควิด 19 ที่มีความปลอดภัย ลดป่วยรุนแรง ลดอัตราการเสียชีวิต ลดการแพร่เชื้อ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย เตรียมฉีดในสถานพยาบาลกว่า 1,000 แห่ง มีระบบติดตามอาการหลังฉีดทาง Line OA “หมอพร้อม” และอสม./เจ้าหน้าที่สธ.เยี่ยมบ้าน
บ่ายวันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2564 ) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ประธานอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวประเด็นการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 โดยนายแพทย์โสภณ เมฆธน กล่าวว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด 19 แก่ประชาชนทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยด้วยความสมัครใจ ให้ได้รับวัคซีนที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ขณะนี้ได้จัดหาวัคซีน 2 ชนิด ได้แก่ ชนิด Virus Vector ของบริษัท แอสตราเซนเนกา และชนิดเชื้อตายจากซิโนแวค เป็นเทคโนโลยีเก่าที่คุ้นเคย มั่นใจเรื่องความปลอดภัย อย่างไรก็ตามอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนอาจเกิดขึ้นได้ เช่น ปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีด ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และจากการติดตามผลการฉีดของประเทศต่างๆ ไม่ได้มีอาการที่รุนแรง
สำหรับเป้าหมายในการฉีดวัคซีนโควิดกับประชาชน แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกเมื่อมีวัคซีนปริมาณจำกัด เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 และรักษาระบบสุขภาพของประเทศ ฉีดให้กลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง มีความเสี่ยงสูง หากติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐเอกชน รวมถึงเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 ที่มีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วย เช่น อสม. ทหาร ตำรวจ ประชาชนและแรงงานในพื้นที่ระบาดของโควิด 19 ระยะที่ 2 เมื่อมีวัคซีนมากขึ้นและเพียงพอ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากรและฟื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยจะฉีดให้แก่ประชาชนทั่วไป, ผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น พนักงานโรงแรม สถานบันเทิง มัคคุเทศก์, ผู้เดินทางระหว่างประเทศ เช่น นักบิน/ลูกเรือ นักธุรกิจระหว่างประเทศ, นักการทูต เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ และแรงงานในภาคอุตสาหกรรม, กลุ่มเป้าหมายในระยะที่ 1, บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ ที่นอกเหนือจากด่านหน้า
สำหรับกลยุทธ์การบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด 19 มี 5 กลยุทธ์ ได้แก่ 1. การสื่อสารทำความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับประโยชน์ ความปลอดภัยของวัคซีน ระบบขั้นตอนในการให้บริการ 2. การบริการที่มีคุณภาพ รวมถึงระบบการเก็บ ขนส่ง ต้องมีอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส เพื่อให้คงคุณภาพจัดระบบบริการที่ดีที่มีความรวดเร็ว จะฉีดทั่วประเทศให้ได้เดือนละ10 ล้านโดส แล้วเสร็จภายในปี 2564 ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 3. การประกันคุณภาพวัคซีน มีการเฝ้าระวังหลังการฉีด 30 นาที และระบบติดตามอาการข้างเคียงภายหลังได้รับวัคซีนในวันที่ 1, 7, 30 และในระบบ Line Official Account และติดตามด้วย อสม. เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล 4. พัฒนาระบบข้อมูล Line OA “หมอพร้อม” เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับโรงพยาบาล 5.การจัดการองค์ความรู้ภายหลังการฉีดวัคซีน ว่าประชาชนมีภูมิต้านทานเพิ่มขึ้นหรือไม่ ป้องกันการป่วย ลดการแพร่โรคหรือไม่
ด้านนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผลการสำรวจทัศนคติ ความเห็นของประชาชน (DDC Poll) ระหว่างวันที่ 26 มกราคม -8 กุมภาพันธ์ 2564 ในกลุ่มเป้าหมาย 2,879 คน พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 70.4 เห็นว่าบุคลากรสาธารณสุขควรได้รับวัคซีนก่อน รองลงมาคือประชาชนทุกคน นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ยังต้องการฉีดวัคซีนแม้ไม่มีรายงานการติดเชื้อ การป่วย และเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 นอกจากนี้ ยังมีประชาชนบางส่วนเห็นว่าเด็กเล็กและหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวัคซีนเช่นกันแต่เนื่องจากเป็นการฉีดในภาวะฉุกเฉิน ยังไม่มีข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีและหญิงตั้งครรภ์
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ซึ่งได้รับขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉิน เพื่อป้องกันควบคุมการระบาดของโควิด 19 ได้เตรียมแผนไว้ 2 ระยะ ระยะที่ 1 เดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2564 จำนวน 2 ล้านโดส ให้บริการผ่านสถานบริการทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีความพร้อมของแพทย์และห้องฉุกเฉินไว้อย่างเพียงพอ ประมาณ 1,000 แห่ง พร้อมให้การช่วยเหลือในกรณีที่เกิดผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์หลังจากการได้รับวัคซีน ในพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งยังพบผู้ติดเชื้ออยู่คือ จ.สมุทรสาคร และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และพื้นที่ที่เคยพบผู้ติดเชื้อมาก่อนหน้าในช่วงเดือนมกราคม ได้แก่ จ.ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด และ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งยังพบผู้ติดเชื้อ โดยจะพิจารณาตามลำดับพื้นที่และความสำคัญของการระบาด และระยะที่ 2 มิถุนายน – ธันวาคม 2564 จำนวน 61 ล้านโดส อาจเพิ่มบริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขนาดใหญ่บางแห่ง เพื่อฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมเร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการให้บริการวัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนใหม่ บุคลากรทางการแพทย์ต้องผ่านการอบรม เรื่องการฉีดวัคซีน เตรียมระบบบริการ อุปกรณ์การแพทย์ ดูแลหลังการฉีดใกล้ชิด ประชาชนที่มารับบริการต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด สังเกตอาการภายหลังได้รับวัคซีนตามเวลาที่กำหนดเป็นเวลา 30 นาที และติดตามจนครบ 1 เดือนขอให้ประชาชนมั่นใจว่าระบบการให้วัคซีนโควิด 19 ที่เตรียมไว้มีความปลอดภัย ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค
************************** 11 กุมภาพันธ์ 2564
**********************************