สาธารณสุข เผยขณะนี้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมป่วยแล้วเกือบ 3 แสนราย เตือนให้ระวังโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งพบมากช่วงปลายฝนต้นหนาว โดยเฉพาะผู้เสี่ยงสูงและอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน อาการอาจรุนแรง หากมีปอดบวมเนื่องจากเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เสียชีวิตได้ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ของกระทรวงสาธารณสุขจนถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2549 ว่า สรุปยอดการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่รักษาพยาบาลผู้ประสบภัย 1,921 ครั้ง มีผู้รับบริการทั้งสิ้น 281,842 ราย จังหวัดที่มีผู้มารับบริการสูงสุด 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี 72,775 ราย จันทบุรี 45,557 ราย พิษณุโลก 23,703 ราย พระนครศรีอยุธยา 22,838 ราย และสุโขทัย 22,337 ราย โรคที่พบ 5 อันดับแรก ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้าและผื่นคัน 168,871 ราย ไข้หวัด 29,205 ราย ปวดเมื่อย 19,884 ราย เครียด 17,330 ราย และตาแดง 11,377 ราย หน่วยแพทย์ได้แจกยาตำราหลวงให้ผู้ประสบภัยไว้รักษาตนเองเบื้องต้นไปแล้ว 111,500 ชุด ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้สภาพอากาศเริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ปลายฝนต้นหนาว โรคที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อไวรัส ในไทยพบในช่วงฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 – 10 ตุลาคม 2549 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จาก 77 จังหวัด จำนวน 12,344 ราย เสียชีวิต 2 ราย สำหรับสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ในจังหวัดที่ประสบอุทกภัย จากการประเมินสถานการณ์ในช่วงสิงหาคม-กันยายน 2549 มีดังนี้ พบมีรายงานดังนี้ จันทบุรี 509 ราย สุโขทัย 302 ราย ตาก 157 ราย นครสวรรค์ 111 ราย พิษณุโลก 102 ราย พระนครศรีอยุธยา 66 ราย อุทัยธานี 55 ราย ชัยนาท 54 ราย นนทบุรี 37 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยยังใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา นายแพทย์ธวัช กล่าวอีกว่า โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน โดยเชื้อจะแพร่ออกมากับน้ำลาย เสมหะไอ จาม ของผู้ป่วย หากอยู่ในพื้นที่ที่คนอยู่รวมกันหนาแน่น การแพร่เชื้อจะง่ายขึ้น อาการจะเริ่มหลังได้รับเชื้อ 1-4 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก และอาจพบอาการคัดจมูก เจ็บคอ ถ้าป่วยนานอาจจะมีอาการไอจากหลอดลมอักเสบ รุนแรงและนานกว่าไข้หวัดธรรมดา ส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่บางรายที่มีอาการรุนแรงจากภาวะแทรกซ้อนคือปอดบวม อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด หัวใจ โรคไต เบาหวาน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หญิงตั้งครรภ์ จึงต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังใต้ถุนบ้าน เนื่องจากสภาพอากาศจะมีความชื้นมาก ต้องสวมใส่เสื้อผ้าให้ความอบอุ่นร่างกาย โดยเฉพาะเวลากลางคืน นายแพทย์ธวัช กล่าวอีกว่า การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุดคือ ให้หลีกเลี่ยงอยู่ใกล้กับผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หากป่วยเป็นไข้หวัดควรใช้ผ้าปิดปาก จมูกทุกครั้งเวลาไอหรือจาม โดยเฉพาะผู้ประสบภัยน้ำท่วมระยะนี้อากาศกำลังเปลี่ยน ไม่ควรให้เด็กเล่นน้ำ อาจสำลักน้ำทำให้ป่วยเป็นไข้หวัดหรือปอดบวมได้ง่ายควรสวมเสื้อผ้าให้อบอุ่น หากมีไข้สูงเฉียบพลันควรไปพบแพทย์ทันที นายแพทย์ธวัชกล่าว ตุลาคม 3/6 ************************************* 13 ตุลาคม 2549


   
   


View 22    13/10/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ