“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 129 View
- อ่านต่อ
ผู้เชี่ยวชาญไวรัสวิทยา แจงประเทศไทยใช้วัคซีนโควิด 19 เบื้องต้น 28 ล้านโดส เหมาะสมกับสถานการณ์ ฉีดให้กลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ คนมีโรคประจำตัว และบุคลากรด่านหน้า เพื่อลดความรุนแรงและการเสียชีวิต ย้ำยังไม่มีผลการศึกษาเรื่องป้องกันการติดโรค ส่วนการใช้ในภาวะฉุกเฉินพิจารณาเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ติดตามอาการไม่พึงประสงค์ ชี้วัคซีนเป็นมาตรการเสริม ยังต้องคงมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล
วันนี้ (20 มกราคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบข้อสงสัยเรื่องวัคซีนโควิด 19 ใน 4 ประเด็นสำคัญ ว่า ประเด็นแรกเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนที่นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉินนั้น หากเป็นยามปกติในโรคปกติ การคิดค้นวัคซีนใหม่จะเป็นไปตามขั้นตอนคือ ในสัตว์ทดลอง ศึกษาความปลอดภัย กระตุ้นภูมิต้านทานได้ จะขออนุญาตทดลองในมนุษย์ ซึ่งมี 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 ศึกษาความปลอดภัย ระยะที่ 2 กระตุ้นภูมิต้านทานได้จริงหรือไม่ และระยะที่ 3 ศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน โดยจะแบ่งกลุ่มให้วัคซีนจริงและและวัคซีนหลอก แล้วติดตามไปอีกเป็นปี เพื่อดูประสิทธิภาพ แต่ในภาวะโรคระบาด ไม่สามารถรอจนสิ้นสุดการวิจัยได้ จึงกำหนดว่า ถ้ามีผู้ป่วยเกิดขึ้น ตามจำนวนเป้าหมาย ก็จะมาดูข้อมูล ทั้งกลุ่มที่ให้วัคซีนจริงและวัคซีนหลอกว่า มีการติดโรคกลุ่มละกี่คน เพื่อคำนวณเรื่องประสิทธิภาพ
“โรคโควิด 19 เป็นได้ตั้งแต่ไม่มีอาการ อาการน้อยมาก น้อย ปานกลางจนถึงมาก วัคซีนแต่ละตัวกำหนดนิยามการติดโรคต่างกัน บางตัวมีอาการน้อยมากมากถือว่าติดโรค บางวัคซีนคิดตั้งแต่ป่วยน้อยหรือปานกลางจึงจะถือว่าติดโรค การดูประสิทธิภาพจึงต้องดูผลของการป่วยระดับใดของแต่ละตัว ทั้งนี้ เมื่อได้ผลเบื้องต้นของระยะที่ 3 จะขออนุมัติใช้ในภาวะฉุกเฉิน โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของแต่ละประเทศ จะเป็นผู้พิจารณาข้อมูลอย่างละเอียด โดยเน้นเรื่องความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล หากมีผลดีมากกว่าการปล่อยให้ติดโรค ก็จะอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน เมื่อการศึกษามีความก้าวหน้าหรือสมบูรณ์มากขึ้นก็สามารถยื่นข้อมูลเพิ่ม เพื่อพิจารณาอนุญาตให้ใช้ในภาวะปกติได้ ส่วนกลุ่มคนที่รับฉีดวัคซีนต้องติดตามไปอย่างน้อย 2 ปี ถ้าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต้องรายงานตามระบบ” ศ.นพ.ยงกล่าว
ประเด็นที่สอง รูปแบบของวัคซีนที่จะนำมาฉีดในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันวัคซีนโควิด 19 ที่กำลังนำมาใช้ในภาวะฉุกเฉิน มี 3 รูปแบบ คือ 1.ชนิด mRNA โดยใช้รหัสพันธุกรรม RNA ของไวรัสโควิด 19 มาห่อหุ้มด้วยตัวนำ Nano Particle วัคซีนกลุ่มนี้คือ ของบริษัทไฟเซอร์ และบริษัทโมเดอร์นา เป็นเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งไม่เคยใช้ในมนุษย์มาก่อน 2.ไวรัสเวคเตอร์ เป็นการนำสารพันธุกรรมไวรัสโควิด 19 มาฝากกับไวรัสที่ไม่ก่อโรคหรือถูกทำหมันแล้ว ได้แก่ ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า สปุตนิกของรัสเซีย และแคนไซโนของจีน ซึ่งรูปแบบนี้เคยใช้ในวัคซีนป้องกันโรคอีโบลา ที่ฉีดหลายแสนคนในแอฟริกา และ 3.วัคซีนเชื้อตาย โดยเพาะเลี้ยงไวรัสจำนวนมากแล้วทำให้ไวรัสตาย นำมาใส่สารช่วยกระตุ้นภูมิต้านทาน และฉีดให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทาน แต่ต้องให้หลายครั้ง การเพาะเชื้อต้องทำในห้องชีวนิรภัยระดับสูง ข้อดีคือ เรารู้จักรูปแบบนี้มานานกว่า 70 ปี ทั้งวัคซีนโปลิโอ ไวรัสตับอักเสบเอ พิษสุนัขบ้า อาการข้างเคียงต่างๆ ศึกษาง่ายกว่าวัคซีนชนิดใหม่ที่ไม่เคยศึกษามาก่อน แต่การผลิตจำนวนมากไม่สามารถลดต้นทุนให้ถูกลงเท่า 2 รูปแบบแรก ประเทศไทยจึงเลือกทางสายกลางในการนำวัคซีนไวรัสเวคเตอร์และวัคซีนชนิดเชื้อตายที่เคยมีการใช้มาบ้างเข้ามาใช้
ประเด็นที่สาม กลุ่มเป้าหมายในการฉีดวัคซีนนั้น เนื่องจากผลการศึกษาวัคซีนทุกตัวเป็นเรื่องประสิทธิผลลดอาการรุนแรงและลดการเสียชีวิต ยังไม่มีผลการศึกษาที่บอกว่าจะลดการติดโรคหรือลดการแพร่เชื้อ คือ ไม่ได้บอกว่าฉีดแล้วจะไม่เป็นโรค เหมือนกรณีวัคซีนคอตีบที่ฉีดแล้วจะไม่เป็นโรคคอตีบ ยังติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ ดังนั้น จุดมุ่งหมายในการฉีดวัคซีนโควิด 19 จึงไม่ใช่ฉีดให้คนหนุ่มสาวเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้สูงอายุ เพราะยังไม่มีข้อมูลว่าจะป้องกันการติดโรค แต่จะฉีดให้กลุ่มที่เสี่ยงที่ติดเชื้อแล้วอาการรุนแรง นอนในโรงพยาบาลและเสียชีวิตสูง คือ ผู้สูงอายุ คนมีโรคประจำตัว บุคลากรด่านหน้า เพื่อลดการสูญเสียทรัพยากร ส่วนที่ไม่ให้ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากยังไม่มีการศึกษา และยังไม่รู้ว่าจะต้องลดโดสลงครึ่งหนึ่งหรือไม่ ในสตรีตั้งครรภ์ก็เช่นกัน ยังไม่แนะนำให้ฉีด เนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่ แต่หากอยู่ในวงระบาดอย่างหนักก็อาจมีการพิจารณาเป็นรายกรณี
ศ.นพ.ยง กล่าวต่อว่า ประเด็นที่สี่ เรื่องผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนนั้น ต้องแยกก่อนว่ามีอาการไม่พึงประสงค์ และอาการข้างเคียงของวัคซีน อาการข้างเคียงคือผลที่เกิดขึ้นจากวัคซีนจริง แต่อาการไม่พึงประสงค์ อาจเกิดจากตัววัคซีนหรือไม่ก็ได้ ต้องมีคณะกรรมการด้านความปลอดภัยพิจารณา เพื่อพิสูจน์ว่าอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น เกี่ยวข้องกับการได้รับวัคซีนหรือไม่ ถ้าเกี่ยวข้องจะเป็นอาการข้างเคียง เช่นเดียวกับที่มีข่าวการเสียชีวิตหลังการฉีดที่นอร์เวย์ 29 รายนี้เป็นอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีน จึงต้องมีการพิสูจน์ก่อนว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่
“วัคซีนจากแอสตราเซนเนกา 26 ล้านโดส และซิโนแวค 2 ล้านโดส ขณะนี้ถือว่ามีความเหมาะสมกับสถานการณ์ เนื่องจากเราฉีดให้แก่กลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ คือ ผู้สูงอายุ มีประมาณ 10 ล้านคน คนที่มีโรคประจำตัว และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า รวมแล้วประมาณ 13-14 ล้านคน ฉีดคนละ 2 โดส จำนวน 28 ล้านโดสก็ถือว่ามีความเหมาะสม ซึ่งตอนนี้ตลาดวัคซีนเป็นของผู้ขาย เนื่องจากมีจำนวนน้อย ดังนั้น เมื่อเรารอจนถึงใกล้สิ้นปี หรือปีหน้า ตลาดวัคซีนจะเป็นของผู้ซื้อ เนื่องจากจะมีวัคซีนออกมามากขึ้น เราก็สามารถเลือกวัคซีนที่ดีที่สุด ราคาเหมาะสมที่สุด มาฉีดเพิ่มเติมหลังจากนี้ได้ ซึ่งปี 2564 วัคซีนเป็นเพียงมาตรการเสริมจากมาตรการที่เราทำดีอยู่แล้ว คือ การสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง จึงขอทุกคนช่วยกันมีระเบียบวินัยในการป้องกันโรคต่อไป จะช่วยให้ผ่านวิกฤตไปด้วยกันได้” ศ.นพ.ยง กล่าว
******************************** 20 มกราคม 2564
*****************************