“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 143 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ย้ำชุดตรวจเร็ว ต้องได้รับอนุญาตจาก อย. จำหน่ายเฉพาะในสถานพยาบาล ตรวจและแปลผลโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันโควิด 19 ไม่ใช่การตรวจเพื่อหาผู้ติดเชื้อ อาจแปรผลผิด แพร่เชื้อให้ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว หากพบจำหน่ายช่องทางออนไลน์แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ อย. ทันที
วันนี้ (11 มกราคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวประเด็นการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019ทางห้องปฏิบัติการ ว่า ขณะนี้ ประชาชนมีความกังวล อยากทราบว่าตนเองติดเชื้อหรือไม่ จึงหาซื้อชุดตรวจเร็วมาตรวจด้วยตนเอง ซึ่งไม่แนะนำให้ซื้อมาตรวจ เนื่องจากไม่ใช่การตรวจทั่วไปเพื่อดูว่ากำลังติดเชื้อหรือไม่ แต่เป็นการตรวจว่ามีภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด 19 อาจได้ผลบวกและผลลบลวง หากตรวจแล้วได้ผลเป็นลบ และเข้าใจว่าตัวเองไม่มีเชื้อจะเป็นอันตราย นำเชื้อไปแพร่ให้กับผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว
ทั้งนี้ ชุดตรวจเร็วจะต้องได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งจำหน่ายได้เฉพาะสถานพยาบาล โรงพยาบาลเฉพาะทาง คลินิกเวชกรรม คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์หรือสหคลินิกที่จัดให้มีการประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือเทคนิคการแพทย์ ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ซึ่งการตรวจและการแปลผลต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น
“กระทรวงสาธารณสุขไม่อนุญาตให้ขายชุดตรวจเร็วในช่องทางออนไลน์ จำหน่ายได้ในสถานพยาบาลเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ จะทำให้เสียเงิน หากป่วยจะเสียโอกาสในการรักษาหรืออาจแพร่เชื้อให้คนใกล้ชิดโดยไม่รู้ตัว หากพบเห็นการโฆษณาขาย ขอให้แจ้ง อย. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งทันที ” นายแพทย์ศุภกิจกล่าว
นายแพทย์ศุภกิจกล่าวต่อว่า การตรวจหาเชื้อโควิด 19 ปัจจุบัน มีการตรวจอยู่ 2 วิธี คือ 1.การตรวจหาเชื้อไวรัสหรือส่วนประกอบไวรัส ซึ่งประเทศไทยใช้การตรวจแบบ RT-PCR ที่เป็นวิธีมาตรฐานโลก โดยเก็บตัวอย่างได้ 2 วิธี คือจากการป้ายหลังโพรงจมูกหรือจากลำคอ ทราบผลการตรวจประมาณ 4-5 ชั่วโมง และเก็บน้ำลาย ประชาชนสามารถเก็บน้ำลายด้วยตัวเอง และส่งตรวจด้วยวิธี RT-PCR หาสารพันธุกรรมของไวรัสเช่นเดียวกัน ซึ่งมีข้อดีคือตรวจได้จำนวนมาก ใช้ระยะเวลาในการเก็บเชื้อรวดเร็ว และตรวจรวมเป็นกลุ่มได้ เมื่อพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มจะทำการตรวจแยกรายบุคคล และ 2. การตรวจหาแอนติบอดี้ หรือภูมิคุ้มกันในร่างกาย เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันของร่างกายหลังการติดเชื้อ ซึ่งจะใช้การส่งตัวอย่างเลือดตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือใช้ชุดตรวจเร็ว Rapid Test ใช้สนับสนุนการวินิจฉัย การสำรวจทางระบาดวิทยา หรือศึกษาความชุกในชุมชน
************************11 มกราคม 2564