กระทรวงสาธารณสุข เผยแผนการฉีดวัคซีนโควิด 19 แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะแรก ก.พ.-เม.ย.นี้ 2 ล้านโดส ใน 5 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า อสม. 8 หมื่นคน เจ้าหน้าที่ควบคุมโรค 2 หมื่นคน และกลุ่มเสี่ยง 9 แสนคน เพื่อลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิต ส่วนระยะที่ 2 พ.ค.-มิ.ย. 26 ล้านโดส ในกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ และระยะที่ 3 ปลายปี 2564 ให้ครอบคลุมคนไทยมากที่สุด

          วันนี้ (7 มกราคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องวัคซีนโควิด 19 ว่า โรคโควิด 19 เป็นการติดต่อจากคนสู่คน ดังนั้นการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ลดกิจกรรมพบปะผู้คน และลดการเดินทาง จึงเป็นการตัดวงจรโรคได้ทางหนึ่ง และเมื่อมีวัคซีนก็จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค แต่กระบวนการนำวัคซีนโควิด 19 มาใช้ มีหลายขั้นตอน ทั้งการนำเข้าวัคซีน การขึ้นทะเบียน การตรวจสอบคุณภาพ การขนส่ง การเก็บรักษา แนวทางการฉีดให้ประชากร การเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์และประสิทธิภาพของวัคซีนภายหลังการฉีด เนื่องจากวัคซีนเป็นการนำเชื้อโรคที่ตายแล้วหรืออ่อนฤทธิ์ฉีดเข้าร่างกาย อาจเกิดผลข้างเคียง จึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อให้วัคซีนมีประสิทธิภาพและความปลอดภัย ในต่างประเทศพบบางรายเกิดผลข้างเคียง บางรายเสียชีวิต ซึ่งจะมีการตรวจสอบว่าเกี่ยวเนื่องกับวัคซีนหรือไม่ กระทรวงสาธารณสุข จะรวบรวมข้อมูลมาแจ้งให้ทราบเป็นระยะ

          นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินการวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย คณะกรรมการวิชาการเห็นชอบให้ดำเนินการเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 จัดหาวัคซีนไว้ 2 ล้านโดส แบ่งเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2 แสนโดส มีนาคม 8 แสนโดส และเมษายน 1 ล้านโดส โดยฉีดคนละ 2 เข็ม ห่างกันประมาณ 4 สัปดาห์ เป้าหมายคือการลดการป่วยที่มีอาการรุนแรงและผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ในพื้นที่ที่มีการระบาดมากที่สุดก่อนคือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด กลุ่มที่จะดำเนินการฉีดก่อนคือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึง อสม. 8 หมื่นคน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค 2 หมื่นคน และบุคคลทั่วไปที่มีโรคประจำตัวเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน และกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป รวม 9 แสนคน หากมีส่วนที่เหลือจะเก็บสำรองไว้กรณีเกิดการระบาดรุนแรงในชุมชนเพื่อยับยั้งการระบาดของโรค

          ระยะที่ 2 ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 จำนวน 26 ล้านโดส ฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ และระยะที่ 3 ช่วงปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 จะฉีดให้ประชาชนทั่วไปให้ครอบคลุมมากที่สุด ให้เกิดภูมิคุ้นกันในชุมชน เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรค ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรมจะเป็นผู้นำเข้าและขนส่งกระจายไปยังโรงพยาบาลในสังกัดทุกระดับ โรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนอย่างครอบคลุม โดยจะเริ่มลงทะเบียนตรวจสอบกลุ่มเสี่ยงที่จะฉีดวัคซีนปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ จัดระบบและซักซ้อมความเข้าใจในการฉีดวัคซีน การขนส่ง การเก็บรักษา และการเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีน

*******************************  7 มกราคม 2564



   
   


View 5299    07/01/2564   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ